ภาพยนตร์ OKURIBITO ความสำเร็จ ความไม่แน่นอน และวันสุดท้ายของชีวิต














ความไม่แน่นอนในชีวิต และการเตรียมพร้อมเดินทางสู่โลกหลังความตาย เป็นธีมหลักของภาพยนตร์ญี่ปุ่น Okuribito เนื้อหาบอกเล่าเรื่องราวได้อย่างลึกซึ้งกินใจ เริ่มจากนักดนตรีหนุ่มผู้พกพาความมั่นใจที่มี นั่นคือ ความสามารถบรรเลงเครื่องดนตรีเซลโล่ เขามุ่งสู่เมืองหลวงอย่างนครโตเกียว การจากลาครั้งแรกเพื่อแสวงหาความสำเร็จโดยไม่มีโอกาสหวนกลับบ้านเกิดอีกเลย ผู้คนในหมู่บ้านต่างชื่นชม คิดว่าเขาคงเป็นสุดยอดนักดนตรีในโตเกียวไปแล้ว ลาจากชีวิตในเมืองชนบทเล็กๆ ของจังหวัดยามางาตะ แต่แล้วก็ต้องพบกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิต เมื่อต้องตกงาน ฝันสลาย และไม่มีทางอื่นนอกจากเดินทางกลับบ้านชนบทพร้อมภรรยา จนกระทั่งพบกับงานใหม่ นั่นคือ "งานจัดการศพ"


ภาพยนตร์สะท้อนภาพความห่างของผู้คนในสังคมญี่ปุ่นยุคใหม่ การจากบ้านนามุ่งหาความสำเร็จโดยที่ไม่มีโอกาสได้พบหน้าพ่อแม่เลย แม้กระทั่งวันสุดท้ายของชีวิต









ในวันแรกที่เขาต้องไปจัดการศพคุณป้าที่นอนตายตามลำพังหลายวันในบ้านโดยไร้ลูกหลานดูแล เป็นความเศร้าสลด หดหู่ที่ผู้คนอย่างตัวพระเอกต่างแสวงหาโอกาสชีวิต จนลืมครอบครัว ทอดทิ้งความทรงจำในอดีต รวมทั้งต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนในชีวิต การตกอับของตัวเอกที่ไม่อาจเป็นนักดนตรีชื่อก้องถึงขนาดต้องขายเซลโล่ คุณป้าโรงอาบน้ำเซนโตะใกล้บ้านที่พบปะคุ้นเคยกันมาแต่เด็ก อยู่ๆ ก็เกิดประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตอย่างไม่คาดฝัน และลูกของคุณป้าเองที่เอาแต่ทะเลาะเถึยงกับแม่เป็นประจำ จนมาถึงวันที่เขาต้องสูญเสียคุณแม่ไปอย่างไม่มีวันกลับ ปิดท้ายด้วยภาพความทรงจำในอดีตของตัวเอกที่มีต่อพ่อของเขา ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับรางวัลออสการ์ และกวาดรางวัลอื่นๆ อีกมากมายในญี่ปุ่น 


หากการเดินทาง คือ จุดเริ่มต้นของความสำเร็จ ความไม่แน่นอนในชีวิต และการเตรียมพร้อมเดินทางสู่โลกหลังความตาย บางทีแล้วภาพยนตร์ยังอาจบอกเป็นนัยยะให้เราเห็นภาพความสำเร็จของญี่ปุ่นในยุค 80 ที่ผู้คนนับล้านต่างมุ่งสู่นครหลวง ที่เปรียบเหมือนประตูสู่ความสำเร็จ ญี่ปุ่นได้ทะยานเป็นชาติชั้นนำทางเศรษฐกิจของโลกในเวลาอันรวดเร็ว แต่กลับสูญเสียความเป็นหนึ่งในเวลาอันรวดเร็วเช่นกัน พร้อมกลับมาหวนระลึกถึง "สัจจธรรม" และ "ความเรียบง่าย" ของสังคมญี่ปุ่นแบบเก่าที่กำลังสลายลง ภาพคนชราถูกทอดทิ้งอย่างเดียวดายในชนบท นับเป็นภาพยนตร์ญี่ปุ่นเรื่องเยี่ยมที่พลาดชมไม่ได้  

ผู้เขียน: ธีรภัทร์  เพิ่มประยูร

Love of Siam ฉายที่ประเทศญี่ปุ่น

พูดถึงเทศกาลภาพยนตร์ในญี่ปุ่นแล้ว เมื่อปี 2009 ได้มีโอกาสชมภาพยนตร์ไทยถึง 2 เรื่อง ที่มาเปิดตัวในงานเทศกาลภาพยนตร์โอซาก้าที่ประเทศญี่ปุ่น นั่นคือ เรื่อง "รักแห่งสยาม" และ "CHOCOLATE FIGHTER" พร้อมผู้กำกับภาพยนตร์ทั้ง 2 เรื่อง
ได้มาสนทนาพูดคุยกันในรอบที่จัดฉาย ภาพโปสเตอร์งานถูกโฆษณาตามสถานีรถไฟฟ้า สื่อทีวี วิทยุในเครือสถานีโทรทัศน์ ABC และเป็นธรรมเนียมที่อาจมีการจำหน่ายในรูป DVD หรือออกฉายในโรงภาพยนตร์ญี่ปุ่นหลังเปิดตัวในงานเทศกาลภาพยนตร์แล้ว



ภาพยนตร์ "รักแห่งสยาม" ได้เลือกงานเทศกาลภาพยนตร์ที่ฟุกุโอกะเป็นงานแรก แต่หลังเปิดตัวแล้วยังไม่มีกระแสความนิยมนักที่ญี่ปุ่น และงานเทศกาลที่โอซาก้าจึงเป็นอีกบทพิสูจน์ความสำเร็จโดยเปิดตัวเป็นครั้งที่ 2 ในประเทศญี่ปุ่น แนวทางการเปิดตัวในงานเทศกาลด้วยธีมภาพยนตร์แนวรักวัยรุ่น แต่ไม่เผยรายละเอียดนัก พร้อมเวลาฉายถึง 3 ชั่วโมงกว่าๆ!!

ภาพยนตร์ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น "Miu no Uta" (ミウの歌:เพลงของมิว) เพราะคนญี่ปุ่นทั่วไปอาจไม่รู้จัก "สยามสแควร์" ชื่อหนังยังคล้องจองกับชื่อภาษาญี่ปุ่นของหนังไทยก่อนหน้า  風の前奏曲 (โหมโรง) ที่ได้กระแสตอบรับดี มีโอกาสฉายทางโทรทัศน์ช่อง NHK เผยแพร่ทั่วประเทศด้วย

ระหว่างการจัดฉาย มีผู้ชมสูงอายุ (50s) ประมาณ 30% เมื่อเรื่องดำเนินมาถึงตอนกลางของเรื่อง บางท่านจะอึ้งไปนิดนึง แต่ในญี่ปุ่นก็จะมีเว็บบล็อคข่าวสารส่งถึงกลุ่มเกย์ ระหว่างเข้าแถวรอชมก็ได้ยินว่าพวกเขาทราบเนื้อหาคร่าวๆ จากบล็อคแล้วมาชมกันก็มีไม่น้อย บางคนมาจากนาโกย่าเพื่อมาชมโดยเฉพาะเลยก็มี


ด้วยภาพยนตร์มีเนื้อหาที่ชัดเจนมาก (ความรักชาย-ชาย)  และความยาวระดับเดียวกับที่ฉายในไทย 3 ชั่วโมงเก็บทุกดีเทล (ซึ่งไม่ได้ edit สำหรับตลาดญี่ปุ่น) และไม่มุ่งขายตรงไปที่กลุ่มเกย์ญี่ปุ่น แต่เลือกนำเสนอภาพความสดใสของเด็กวัยรุ่น 4 คนชายหญิง พร้อมจะ "บอกความในใจไปกับเสียงเพลง" (จากภาพโปสเตอร์ และคำโปรยในบิลบอร์ด)


บริษัทญี่ปุ่นที่ได้รับสิทธิ์จัดจำหน่ายพยายามดันด้วยบล็อค มุ่งจำหน่าย DVD เป็นหลัก ไม่สร้างตลาดระยะยาวกับคนดู หรือเปิดพื้นที่ให้ interact อัพเดทข่าวสารใหม่ๆ ของนักแสดง และผลงานผู้กำกับเรื่องอื่นๆ เพื่อต่อยอดนำเสนอ Product ถัดไปให้ได้ติดตามชมกัน และด้วยจุดอ่อน 2 ประการข้างต้น ในสังคมญี่ปุ่นที่ยังไม่พร้อมเปิดรับเพศที่ 3 ฐานคนดูย่อมแคบแน่นอน Marketing จึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากเจาะกลุ่ม Niche ตามหนังแนวเดียวกันอย่าง Milk หรือหนังของญี่ปุ่นเองอย่าง Boys Love ที่เลือกทำตลาดร่วมกับสถานบันเทิงของกลุ่มเฉพาะ (ชาย) กลุ่มคนอ่านการ์ตูนแนว Boy Love (หญิง) ไปพร้อมๆ กับการโปรโมททางสื่อทั่วไป และเว็บบล็อคยอดฮิตต่างๆ (New Target & Thailand  Lover)

หนังเรื่องนี้มีจุดขายที่เพลงประกอบมากมาย แต่เหมือนมีกำแพงทางภาษากั้นขวางไปไม่ถึงหูคนทั่วไป รวมทั้งย่านวัยรุ่นอย่าง America-Mura ของโอซาก้าเองก็มีความร่วมสมัย มีโลเกชั่นไม่ต่างกับช้อปปิ้งสตรีทของไต้หวัน ที่ให้กลิ่นอายเช่นเดียวกับสยามสแควร์ทีเดียว ก็เป็นข้อดีที่พลาดโอกาสนั้นไปอย่างน่าเสียดาย

จากเดิมภาพยนตร์มีกำหนดจำหน่ายตามร้านค้าทั่วไป และศูนย์เช่าวีดีโอ ได้เปลี่ยนมาจำหน่าย โดยการสั่งจองเป็นชุดแล้วส่งทางไปรษณีย์ http://www.loveofsiam.jp/news.html

ขอบคุณที่ติดตามอ่านนะครับ หากมีความคืบหน้าหนัง-เพลงไทยในญี่ปุ่นใดๆ จะกลับมาบอกเล่ากันนะครับ

UNIQLO เปิดตัวคอลเลคชั่น BIGBANG! อินเทรนด์กระแสเกาหลี


ในที่สุด UNIQLO ก็เอาใจคนรัก "BIGBANG" ศิลปินกลุ่มสุด Hot ที่กำลังเป็นที่นิยมในญี่ปุ่นขณะนี้ด้วยคอลเลคชั่นเสื้อยืดสีสันสะดุดตา  BIGBANG's collaborative Uniqlo T-shirts เปิดตัวกันไปแล้วที่สโตร์ฮาราจูกุเมื่อวันเสาร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยสงวนพื้นที่ 1 ชั้นเพื่อคนรัก BIGBANG กันไปเลย เรียกว่าเอาใจคอเพลงป้อปเกาหลีสุดๆ ถึงขนาดมีคนต่อแถวรอเพื่อช้อปข้ามคืนกันเลยทีเดียว และเป็นไปตามคาดที่สินค้าคอลเลคชั่นล่าสุดนี้ทำยอดขายทำลายสถิติของ UNIQLO ทำยอดขาย และทำกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ภายในวันเดียวเท่านั้น










นับเป็นความร่วมมือของค่ายเพลงที่เตรียมการโปรโมทคอนเสิร์ตครั้งใหญ่ในเดือนพฤษภาคม 2011 นอกจาก UNIQLO แล้ว BANGBANG ยังสร้างกระแสความน่าสนใจด้วยการดาวโหลดเสียงเพลงและ MV รวมทั้งลอตเตอรรี่ที่ช่วยกระจายตั๋วชมคอนเสิร์ต และทำยอดจำหน่ายโปสเตอร์ได้อีกทางหนึ่ง


สำหรับเสื้อยืด UNIQLO คอลเลคชั่นนี้มีมากกว่า 10 แบบ พร้อมไซส์สำหรับผู้ชายครบทุกไซส์ รวมทั้งไซส์ขนาดเล็กพิเศษอย่าง XS ด้วย ที่สำคัญคอลเลคชั่น BIGBANG นี้มีจำกัดเฉพาะที่ "UT สโตร์ฮาราจูกุ" ในโตเกียว และ "UNIQLO Shinsaibashi" ที่โอซาก้าเท่านั้น! 

■ สำหรับคอนเสิร์ตของศิลปินวง BIGBANG จะจัดแสดงทัวร์ที่ญี่ปุ่นทั้งหมด 7 รอบ สถานที่ คือ Osaka-jo Hall (วันที่ 10-11 พฤษภาคม) ,Makuhari Messe ชิบะ (13-15 พฤษภาคม) และ Nippon Gaishi Hall นาโกย่า (17-18 พฤษภาคม) คาดว่าจะมีผู้เข้าชมถึง 90,000 คน 

ข้อมูลข่าว:http://www.oricon.co.jp/news/ranking/84643  

จุดนัดพบคนรัก Asian Culture@ Bazaar Cafe Kyoto


เมื่อนึกถึงร้านอาหารสไตล์ Asian ในเกียวโตแล้วล่ะก็ มีหลายๆ ร้านที่น่าสนใจ เนื่องจากเกียวโตเป็นเมืองท่องเที่ยว แน่นอนว่าบรรยากาศจึงอบอวลไปด้วยกลิ่นอายแบบ Nostalgic แม้แต่ร้านอาหารญี่ปุ่นเองก็มีการดดแปลงอาคารห้องแถวไม้แบบโบราณ หรือ Kyoto Machiya มาแต่งเป็นคาเฟ่สุด Chic! มากมาย

ร้าน Bazaar Cafe Kyoto เป็นร้านหนึ่งที่นำเอาความหลากหลายทางวัฒนธรรมของเอเชียมารวมไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นอาหารที่มีทั้งอาหารไทย อาหารเวียดนามให้เลือกมากมาย รวมทั้งมุมจำหน่ายของพื้นเมืองที่รวบรวมเอาผ้าทอมือจากเชียงรายมาจัดจำหน่ายและเผยแพร่ความสวยงามของผ้าไทยในญี่ปุ่น เจ้าของร้านซึ่งเป็นอาจารย์คณะสังคมศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย Doshisha ต้องการให้สถานที่แห่งนี้เป็นแหล่งรวมของคนรักศิลปะ และฟรีสเปซสำหรับการพักผ่อนพร้อมอาหารและเครื่องดื่มที่ปรุงจากเชฟของชาตินั้นๆ ดังนั้นในแต่ละเดือนรายการอาหารจึงหมุนเวียนเปลี่ยนไปตามอีเวนท์ ให้ลูกค้ากลับมาอิ่มอร่อยในเมนูที่แตกต่างอยู่เสมอ

ในปี 2005 ได้มีโอกาสไปร่วมงานอีเวนท์ไทยที่ร้าน ที่ตั้งของร้านอยู่ด้านข้างของมหาวิทยาลัย Doshisha วิทยาเขต Imadegawa หรือสามารถเดินทางมาลงได้ที่สถานีรถไฟ Imadegawa แล้วจะพบกับบ้านหลังใหญ่พร้อมข้อความชื่อร้านและเมนูรายการอาหารที่หน้าบ้าน 


พร้อมการแสดงรำดาบไทย ศิลปะการรำที่ผสมดาบกับท่าไหว้ครูมวยไทย เลยคิดว่าน่าจะถูกใจผู้ร่วมงานบ้างไม่มากก็น้อย นอกจากการแสดงที่มีในแต่ละอีเวนท์ที่หมุนเวียนเปลี่ยนไปแล้ว เรายังได้พบมิตรภาพระหว่างรับประทานอาหาร ผู้คนจับกลุ่มสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น พร้อมปิดท้ายอีเวนท์ในครั้งนั้นลงด้วยรำวงมาตรฐาน 


Crazy Chocolate Crepe
ล่าสุดในปี 2011 เราได้มีโอกาสกลับไปเยือนอีกครั้ง ทุกอย่างยังคงความเป็น Bazaar Cafe ไม่เปลี่ยนแปลง หากคุณสนใจอาหาร Asian รสชาติหลากหลาย พร้อมชมการแสดงในแต่ละอีเวนท์ศิลปะวัฒนธรรมที่ทางร้านนำเสนอ เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่ขอแนะนำ

ร้าน Bazaar Cafe Kyoto 
ใกล้สถานีรถไฟ Imadegawa (สาย Keihan line)
วันเวลาทำการ: วันพฤหัสบดี - วันเสาร์ (11.00 - 20.00), ปิดวันอาทิตย์ถึงวันพุธ








ติดตามข้อมูลที่น่าสนใจมากมายทางอินสตาแกรinStyleAsia

บทความโดย Teeper



J Soul Brothers อีกตำนานจาก EXILE

J Soul Brothers


J Soul Brothers แนวเพลง Dance มีสมาชิก 7 คน แยกตัวออกจากวง EXILE โดย Hiro หัวหน้าวง EXILE คือ คนแรกที่เป็นผู้บุกเบิกกลุ่ม J Soul Brothers ก่อนหน้านี้เขาอยู่ในวง Zoo ซึ่งตั้งขึ้นในปี 1999 แล้วจึงค่อยเปลี่ยนชื่อมาเป็น EXILE ในปี 2001

จนกระทั่งปี 2007 Hiro ได้ตั้งกลุ่ม J Soul Brothers ขึ้นใหม่ พร้อมกับคัดสรรสมาชิกหน้าใหม่ที่มีความสามารถหลายคน กลุ่ม J Soul Brothers ได้ผลัดเปลี่ยนสมาชิก และกลับไปรวมกับวง EXILE อีกครั้งในวันที่ 1 มีนาคม ปี 2009 ต่อมาในวันที่ 19 กรกฎาคม 2010 วง J Soul Brothers ได้ก่อตั้งใหม่อีกครั้ง พร้อมกับสมาชิกรุ่นที่ 3 ประกอบด้วย

- เนสมิทธ์ ริวตะ คาริมุ (Nesumisu Ryuta Karimu) เกิดวันที่ 1 สิงหาคม 1983 เป็นลูกครึ่งชาวผิวดำ-ญี่ปุ่น
โชคิจิ (Yagi Shokichi) เกิดวันที่ 3 ตุลาคม 1985
- เคนจิ (Teratsuji Kenichirou) เกิดวันที่ 28 กันยายน 1979
- เคอิจิ (Kuroki Keiji) เกิดวันที่ 21 มกราคม 1980

เท็ตสึยะ (Tsuchida Tetsuya) เกิดวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 1981
นาโอโตะ (Kataoka Naoto) เกิดวันที่ 30 สิงหาคม 1983

นาโอกิ (Kobayashi Naoki) เกิดวันที่ 10 พฤศจิกายน 1984.
น่าสังเกตว่า Nesmith และ Shokichi นักร้องนำสามารถทั้งร้องเพลง และเต้นไปในเวลาเดียวกันได้อย่างน่าทึ่ง แตกต่างไปจากวง EXILE อย่างเห็นได้ชัด

และในวันที่ 1 ธันวาคม 2010 ที่ผ่านมา เพลง On Your Mark〜Hikari no Kiseki 〜 ซึ่งเป็นเพลงประกอบละครเรื่อง Onijima Heiwa jirou Nemuranu Oni (鬼島平八郎 眠らぬ鬼) ของทางสถานีโทรทัศน์ ABC ขับร้องโดยวง J Soul Brothers ได้เผยแพร่ และตามด้วยการโปรโมท CD Single เพลงเดียวกันนี้ทาง MUSIC STATION เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2010 นับเป็นการเปิดตัววงในนาม J Soul Brothers อย่างเต็มตัวต่างจากครั้งก่อนอย่างสิ้นเชิงที่ยังคงเป็นกลุ่มในวง EXILE 

เพลง On Your Mark〜Hikari no Kiseki〜ได้รับความนิยมอย่างมากจนติดอันดับ TOP 5 ORECON CHART ในรอบ 2 สัปดาห์แรกของเดือนธันวาคมเลยทีเดียว!





 (ขอบคุณเครดิตข้อมูลจากวิกิพีเดีย ญี่ปุ่น)

ละครญี่ปุ่น My Boss,my Hero

ผู้กำกับ          Oomori Mika (大森美香)
ปีที่ฉาย (ปี 2006) ทางสถานีโทรทัศน์ Nippon TV Network
        เป็นละครที่นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับ นักเรียนระดับมัธยมปลายปีสุดท้าย โดยฉีกแนวให้ต่างจากละคร TV ญี่ปุ่นเรื่องอื่นๆ ภายใต้แนวคิดที่ว่า "อาจารย์ยากูซ่ายังมีได้ แล้วทำไมจะมีนักเรียนยากูซ่าไม่ได้"
       นายซากากิ มากิโอะ (Sakaki Makio นำแสดงโดย “Nagase Tomoya [長瀬智也]”) เป็นลูกชายหัวหน้าแก๊งยากูซ่าวัย 27 ปี มีเหตุจำเป็นต้องกลับไปเรียนมัธยมปลายอีกครั้ง เพราะไปคำนวณผิดทำให้แก็งค์ของเขาต้องสูญเงินไปหลายล้านเยนให้กับแก็งค์มาเฟียกลุ่มหนึ่งที่ฮ่องกง อีกทั้งเขาเป็นคนใจร้อน ไม่สามารถคิดอะไรได้นานเกินกว่า 90 วินาที หากโมโหขึ้นมาแล้วไม่มีใครสามารถเอาเขาอยู่ได้ และยังใช้แต่กำลัง โดยไม่เคยใช้สมอง  แม้แต่พ่อของเขาก็ยังเอือมระอา ซากากิ คิอิชิพ่อของเขาจึงตัดสินใจติดสินบนกับเพื่อน มินามิ ทากายูกิ” (Minami  Takayuki นำแสดงโดย “Iwaki Koichi [岩城滉一]”) ซึ่งเป็นอาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนมัธยมเล็กๆแห่งหนึ่งให้รับนายมากิโอะไว้ โดยได้ส่งนายมากิโอะกลับไปเรียนชั้นมัธยมปลายปีสุดท้าย และปิดบังสถานภาพความเป็นทายาทของเจ้าพ่อแก็งค์ยากูซ่าเอาไว้ มีเพียงอาจารย์ใหญ่เท่านั้นที่ล่วงรู้ความจริง และนายมากิโอะยังมีเดิมพันกับคุณพ่อว่า หากเขาเรียนไม่จบ จำเป็นต้องยกตำแหน่งหัวหน้าใหญ่ของแก็งค์ให้กับน้องชายแท้ๆของตนซึ่งมีปัญหาด้านสุขภาพ และเพิ่งเดินทางกลับจากการศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา 

โปสเตอร์ภาพยนตร์เกาหลี (ต้นฉบับ)
              นับตั้งแต่วันแรกที่เปิดเทอม ความวุ่นวายต่างๆก็เกิดขึ้นกับนายมากิโอะ อาจารย์โฮมรูมของเขาเป็นลูกสาวของอาจารย์ใหญ่ที่นายมากิโอะได้ตั้งฉายาให้เธอว่า หน้ากากอำมหิต เขาไม่สามารถแม้แต่จะเขียนชื่อของตัวเองด้วยตัวอักษรคันจิ พื้นฐานในวันแรกที่เข้าชั้นเรียนได้ ประเด็นที่สอง เขาเข้ามาศึกษาในชั้นปีสุดท้ายของมัธยมปลาย ขณะที่ความสามารถทางคณิตศาสตร์ของเขามีเพียงระดับชั้นมัธยมต้นเท่านั้น ทำให้เพื่อนๆของเขาต่างดูหมิ่นดูแคลน และเขายังไม่สามารถสูบบุหรี่ในชั้นเรียนได้ ประเด็นที่สาม การวางแผนพิชิตขนมพุดดิ้งที่อร่อยมาก จำหน่ายเพียงสิบสองถ้วยต่อวัน และนักเรียนทุกคนต่างช่วงชิงกันในยามพักกลางวัน ด้วยความคิดของนายซากุระโคอุจิ จุน (Sakurakouji Jun นำแสดงโดย “Tegoshi Yuya [手越祐也])  เพื่อนร่วมชั้นเรียนของเขาที่แนะนำให้ประดิษฐ์ปีกนกและนำไปติดบนหลังเพื่อกระโดดข้ามตึก ตามหลักการของทฤษฎีพาราโบลาที่ได้เรียนในชั้นเรียน โดยมีจุดหมายเพื่อให้นายมากิโอะสามารถกระโดดข้ามตึกไปเอาขนมพุดดิ้งได้สำเร็จ นายมิกิโอะสามารถหัวเราะได้อย่างเป็นธรรมชาติเป็นครั้งแรกที่เขาสัมผัสได้ถึงมิตรภาพ และความสำเร็จที่พิชิตเอาขนมพุดดิ้งได้
         ประเด็นที่สี่ คือ การผจญกับกลุ่มแก็งค์นักเรียนรีดไถในโรงเรียน การที่นายมากิโอะเข้าไปช่วยนายจุน เพื่อนร่วมชั้นจากกลุ่มแก็งค์นี้ ทำให้นายจุนนับถือนายมากิโอะเป็นเพื่อนแท้ และมิตรภาพที่เกิดขึ้นระหว่างเพื่อนร่วมชั้นอย่าง “นายซากุระโคอุจิ จุน” ที่คอยช่วยเหลือ และเป็นกำลังใจให้เขามาโดยตลอด รวมทั้งเหตุการณ์ที่นายมากิโอะได้รับคัดเลือกให้เป็นหัวหน้าชั้นเรียน และนำทีมกีฬาบาสเกตบอลประจำชั้นจนประสบความสำเร็จ ทำให้นายมากิโอะเริ่มปรับตัวเข้ากับสังคมในโรงเรียนได้ตามลำดับ ในขณะเดียวกัน นายมากิโอะจำต้องมีเพื่อนร่วมชั้นอายุอ่อนกว่าเป็นสิบปี เขาได้ตกหลุมรักกับสาวน้อยนามว่า อุเมมุระ ฮิคาริ (Umemura Hikari นำแสดงโดย “Aragaki Yui [新垣結衣]) เพื่อนร่วมชั้นเรียนอีกคนหนึ่ง ที่เคยออกเดทกันครั้งแรกในการเล่นเกมของโรงเรียนในยามค่ำคืนก่อนจบการศึกษา  และนายมากิโอะต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการเผชิญหน้ากับความโหดร้ายของการสอบปลายภาค และความเข้มงวดของอาจารย์ มินามิ ยูริโกะ (Minami Yuriko นำแสดงโดย “Kashii Yu [香椎由宇]) อาจารย์โฮมรูมซึ่งมีอายุน้อยกว่านายมากิโอะถึง 2 ปี ระหว่างศึกษาเล่าเรียนอยู่นั้น นายมากิโอะได้รับความช่วยเหลือจากลูกน้องในแก็งค์ของเขานามว่า มานาเบะ คาซูยะ (Manabe Kazuya นำแสดงโดย “Tanaka Koki [田中聖]”) ซึ่งปลอมตัวเข้ามาในโรงเรียน และยอมทุ่มกายถวายชีวิตให้นายใหญ่ของตนมาโดยตลอด
            นายมากิโอะใช้ความพยายามอย่างมากเพื่อให้ได้มาซึ่งใบประกาศนียบัตรตามสัญญาที่ให้ไว้กับคุณพ่อ ส่วนคุณพ่อของนายมากิโอะเองก็แสดงบทบาทของความเป็นพ่อเป็นครั้งแรก ครอบครัวที่ห่างเหินได้กลับมากลมเกลียวอบอุ่นอีกครั้ง  ขณะเดียวกันเขายังได้รับการสืบทอดอำนาจต่อจากคุณพ่อให้เป็นหัวหน้ากลุ่มแก็งค์มาเฟียจากการคัดเลือกภายในกลุ่มเขตอิทธิพลของคุณพ่อ แต่ด้วยอุบัติเหตุที่คาดไม่ถึง แก็งค์อันธพาลคู่อริของเขาได้บุกเข้ามาถึงโรงเรียนก่อนพิธีจบการศึกษาเพียง 1 สัปดาห์ ทำให้เพื่อนๆและคณาจารย์ทุกคนต่างล่วงรู้ความลับของนายมากิโอะ เป็นเหตุให้เขาพ้นสภาพความเป็นนักเรียนทันที อย่างไรก็ตาม นายมากิโอะก็ได้แสดงสปิริตด้วยการลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าใหญ่ของแก็งค์แล้วมอบตำแหน่งดังกล่าวให้กับน้องชายแท้ๆของตนเอง เพราะไม่สามารถรักษาสัญญาที่ให้ไว้กับคุณพ่อได้ ความผูกพันตลอดระยะเวลา 1 ปีที่นายมาคิโอะได้ใช้ชีวิตที่โรงเรียน สถานที่ที่เขาเคยหนีมันมาตลอดในวัยเยาว์ ทำให้เขาได้ค้นพบ และสัมผัสบางสิ่งบางอย่างที่ขาดหายไปในชีวิต จากข้อคิดที่ได้จากอาจารย์พยาบาลนามว่า มิซุชิมะ ซึบากิ ซึ่งปรากฏตัวเข้ามาเป็นระยะๆ เมื่อตัวละครเอกอย่างนายมากิโอะตกอยู่ในห้วงแห่งความสับสน และท้อแท้ เธอได้เล่าเรื่องราวของ “Hellen Keller”ให้เขาฟัง ความว่า

              ความสุขของวัยหนุ่มสาว คือมิตรภาพ ความสนุกจากการแสวงหาความรู้ที่มีอยู่รอบตัว ความรัก และความผิดพลาดของวัยหนุ่มสาวที่ผ่านไป หากสักวันเมื่อหวนกลับมาระลึกถึงคราใด ก็มิอาจลืมเลือนไปจากความทรงจำ

        ชีวิตแห่งวัยหนุ่มสาวหาใช่การพิพากษาด้วยคะแนนสอบที่เป็นเพียงสิ่งสมมติไม่ หากเมื่อกาลเวลาได้ผ่านไปแล้ว อันดับของคะแนนในชั้นเรียนอาจจะไม่มีความหมายใด หรือมีคุณค่าต่อความทรงจำของชีวิตเลยก็ได้ แม้ว่านายมากิโอะไม่ได้รับใบประกาศนียบัตรจากโรงเรียน แต่เขากลับได้รับประกาศเกียรติคุณจากอาจารย์ประจำชั้น และเพื่อนร่วมห้องทุกคนในวันสุดท้ายของการเรียน

ผู้เขียน : ธีรภัทร์  เพิ่มประยูร
©2024 inStyle Asia All Rights Reserved.
Designed by Creatopia Space