ฮิเดโตชิ นิชิจิมะสัมภาษณ์ผู้กำกับชาวไทย คุณเจ้ย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุลเวที Asia Lounge ที่โตเกียว มิดทาวน์ ฮิบิยะ

เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา "นิชิจิมะ ฮิเดโตชิ" (นิชิจิมะ) นักแสดงชื่อดังชาวญี่ปุ่นจากซีรีย์สุดฮิตเรื่อง What did you eat yesterday รวมทั้งภาพยนตร์เรื่อง Drive My Car โดยผู้กำกับริวสุเกะ ฮามากุจิ สัมภาษณ์คุณเจ้ย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล (อภิชาติพงศ์) ผู้กำกับชาวไทย โดยมีคุณอิชิยามะ โชโซ ผู้อำนวยการจัดโปรแกรมหนังในงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตเกียวรับหน้าที่เป็นพิธีกร จัดขึ้นที่โตเกียวมิดทาวน์ ฮิบิยะ ในงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตเกียวครั้งที่ 34 สนับสนุนโดยมูลนิธิญี่ปุ่น ภาพยนตร์เรื่อง Memoria ของอภิชาติพงศ์ซึ่งคว้ารางวัล Jury Prize ในงานเทศกาลหนังเมืองคานส์ ครั้งที่ 74 และยังได้รับเลือกให้ฉายรอบปฐมทัศน์ที่ญี่ปุ่นในงานนี้อีกด้วย นำแสดงโดยทิลด้า สวินตัน

อิชิยามะ (พิธีกร): "คุณเคยเจอผู้กำกับอภิชาติพงศ์ในงานเทศกาลหนังเมืองคานส์มาก่อนใช่ไหม?” 

ฮิเดโตชิ:  “ไม่เคยครับ ตอนนั้นผมอยู่ระหว่างถ่ายหนัง ไม่สามารถไปร่วมงานได้ แต่ผมรู้จักคุณเจ้ยมานานกว่า 10 ปีแล้วครับ ตอนที่หนังเรื่องหนึ่งของเขาฉายในงานเทศกาลหนัง TOKYO FILMeX (ที่โตเกียว) จำได้ว่าพวกเราออกไปทานอาหารค่ำกัน และคุณเจ้ยยังบอกผมด้วยว่าเขามีโปรเจคหนังในใจอยู่เรื่องหนึ่งซึ่งอยากให้ผมร่วมงานด้วยครับ” 

อภิชาติพงศ์: "หนังเรื่อง Drive My Car ผมไม่มีโอกาสได้ชมตอนอยู่ที่เมืองคานส์ แต่ได้ดูตอนมาถึงนิวยอร์กวันแรก เป็นหนังที่เข้าถึงตัวตนของผมจริงๆ  ไม่ใช่แค่ระดับความรู้สึก แต่มันเป็นระดับสติปัญญาเลยครับ สำหรับผมแล้ว มันคือหนังเศร้า ดำเนินเรื่องโดยคนที่กำลังประสบมรสุมชีวิต การได้ชมหนังเรื่องนี้ก็เหมือนกำลังมองแจกันที่แตกร้าว ชิ้นส่วนแจกันที่แตกกระจายถูกนำมาประกบเข้ากัน แต่ยังไงมันก็ไม่เหมือนของเดิม หนังพยายามผลักดันให้ตัวละครกลับมาอยู่ด้วยกัน ผมพบว่ามันดำเนินไปพร้อมให้แง่คิดมากๆ ครับ และยังสะท้อนความปวดร้าวที่ซ่อนอยู่ในตัวผมด้วยครับ”

อภิชาติพงศ์: "ผมคิดว่าฮิเดะ (นิชิจิมะ) แสดงได้ดีที่สุดในชีวิตการแสดงของเขาเลยครับ ให้ความรู้สึกสะเทือนใจมากๆ ขอบคุณสำหรับการแสดงครับ” 

ฮิเดโตชิ: "ขอบคุณครับ ภาพยนตร์เรื่อง Drive My Car เป็นหนังที่เต็มไปด้วยความรู้สึก โครงเรื่องดูละเมียดละไม ผมรู้สึกว่ามันเป็นหนังที่ดำเนินไปจนสุดทาง เป็นหนึ่งในภาพยนตร์ของผู้กำกับฮามากุจิที่ดำเนินไปจนสุดทางจริงๆ ครับ" 

อภิชาติพงศ์: "ผมประทับใจฉากตอนคัดตัวนักแสดงมากครับ นักแสดงต่างส่งสารด้วยภาษาของตัวเอง เหมือนกับชิ้นส่วนความทรงจำ ราวกับเป็นส่วนหนึ่งของนิยาย ผมรู้สึกว่าตัวละครที่คุณฮิเดะ (นิชิจิมะ) แสดงนั้นถูกเก็บตัวเองได้แบบสุดๆ หลังจากภรรยาเสียชีวิต แต่แล้วเขากลับมาเริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้ง คุณฝึกฝนตัวเองเพื่อให้เข้าถึงตัวละครขณะถ่ายทำ หรือจริงๆ แล้วตัวคุณเองคือตัวละครนั้นอยู่แล้ว?


ฮิเดโตชิ: "ผู้กำกับฮามากุจิทยอยส่งข้อความที่เกี่ยวกับตัวละครนี้ให้ผมปึกใหญ่ แล้วถามผมว่า 'อะไรคือความรู้สึกรัก? แล้วคิดว่าเซ็กส์คืออะไร? ยิงคำถามนับสิบข้อที่เขาอยากให้ผมตอบในฐานะตัวละครตัวนี้ ผมยึดเอาข้อความเกี่ยวกับบทบาทที่ผมแสดง เป็นที่ตั้ง ทำให้ผมพบคำตอบ เราไม่ได้แสดงไปตามบท แต่เราอ่านด้วยเสียงดังๆ อย่างราบเรียบ ไร้อารมณ์ ตามแนวคิดของฌอง เรอนัวร์ (Jean Renoir) กับโรเบิร์ต เบรซซง (Robert Bresson) ซึ่งผู้กำกับหนังทั้งสองท่านนี้ก็ยึดหลักเดียวกันนี้มาใช้ฝึกซ้อมบท ผมพบว่ามันเป็นแรงบันดาลใจอย่างแท้จริง ข้อความี่เกี่ยวกับตัวละครตัวนี้คือรากฐาน เป็นดั่งเสาหลักของผมครับ"

อภิชาติพงศ์: “ใช่ ผมรู้สึกเหมือนกับว่าหนังดำเนินเรื่องไปตามบทในแนวระนาบเดียว แค่ฟังภรรยาท่องบทซ้ำๆ วิธีการที่เธอสามารถใส่ความคิดสร้างสรรค์คือ การมีเซ็กซ์ การบรรลุจุดสุดยอด จากนั้นเรื่องราวมันก็เผยออกมา ผมรู้สึกราวกับว่านั่นคือชีวิตของนักเขียนหรือผู้กำกับหนัง สร้างการเล่าเรื่องด้วยการร้อยเรียงผู้คนหลายชีวิตเข้าด้วยกัน


ฮิเดโตชิ: ทำให้ผมเห็นว่าเรื่องสั้นของมุราคามิ ฮารุกิที่ตัวหนังสร้างอิงนั้นค่อนข้างเป็นอิสระจากพันธนาการทางอารมณ์ ผู้กำกับฮามากุจิและผมได้พูดคุยกันเกี่ยวกับการสร้างบุคลิกตัวละครมากกว่าเรื่องการถ่ายทำหนังเสียอีก เพราะถ้ามันไม่โดน ผู้ชมจะไม่สามารถทนดูตัวละครตัวเดิมได้นานกว่า 2 ชั่วโมงได้เลย ที่ต่อมาได้เปลี่ยนความยาวของหนังเป็น 3 ชั่วโมง" ผมต้องแสดงออกโดยไม่เผยอารมณ์ความรู้สึกออกมา ด้วยการเล่นกับข้อความที่เกี่ยวกับตัวละครที่ได้จากผู้กำกับ มันเป็นการถ่ายทำที่ยากทีเดียวครับ"

ฮิเดโตชิ: "ราวกับว่ามีบางสิ่งบางอย่างในตัวละครที่สะท้อนออกมาด้วยตัวตนของนักแสดงจริงๆ เราถ่ายทำไปตามลำดับ และเนื่องจากสถานการณ์โควิด ทำให้เราต้องพักการถ่ายทำนาน 6 เดือนหลังจากถ่ายช่วงแรก ตอนที่ภรรยาของผมเสียชีวิต ช่วงเวลาที่ต้องเก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน มีความหมายกับตัวผมมากกับการที่ต้องแสดงเป็นตัวละครนี้ ท่ามกลางความตายที่เกิดขึ้นทั่วโลกจากการระบาดของโควิด" 


ฮิเดโตชิ: "หนังเรื่อง Memoria เป็นหนังที่เงียบมาก คุณสามารถได้ยินแม้กระทั่งเสียงสั่นไหวของแก้วหู รู้สึกได้ถึงความศักดิ์สิทธิ์ ผมรู้สึกว่าคุณเจ้ยกำลังก้าวไปสู่อีกขั้นหนึ่ง หนังถ่ายทำที่โคลอมเบีย ไม่ใช่เมืองไทย ตอนที่คุณบอกผมเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้ก่อนฉาย ผมถามไปและทราบว่ามันมีฉากป่าในหนังด้วย ที่เมืองไทย มีความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในป่า ทำไมคุณตัดสินใจมาถ่ายทำที่โคลอมเบีย และคุณรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับป่าครับ?”

อภิชาติพงศ์: “หลังจากถ่ายทำหนังเรื่อง Cemetery of Splendour เสร็จในปี 2015 มันเป็นช่วงเวลาที่สับสนอลหม่านในเมืองไทยทั้งความขัดแย้งทางสังคมและการเมือง จากรัฐบาลเผด็จการทหาร และบริบทที่ผมใช้ชีวิต ผมไปงานเทศกาลหนังมากมาย ผมรู้สึกเลยว่าผมต้องการปลีกตัวออกมา พูดถึงเรื่องป่า เราคิดถึงป่าอเมซอน นั่นคือจุดหมายของผม แต่ตอนอยู่ที่โคลอมเบีย ผมรู้สึกประทับใจตัวเมืองและชนบทเล็กๆ ที่เป็นป่าเขา ด้วยแนวคิดของผม ผมพยายามลืมประเทศไทย และกลับไปเรียนรู้การทำหนังอีกครั้ง ค้นหาโลเคชั่นภูมิทัศน์ใหม่ๆ นำเสนอผ่านจอภาพยนตร์ แน่นอนว่าผมไม่อาจหนีความวุ่นวายด้วยแนวคิดการมองโลกของผม แต่มันคือการผจญภัยครั้งใหม่ ผมรู้สึกราวกับว่ากำลังสร้างหนังสักเรื่องให้เพื่อนๆ ได้ดู หรือใครบางคนเช่นคุณ และคนที่ติดตามผม กำลังชมผลงานของผม ถึงแม้สถานที่แตกต่างกัน แต่การเดินทางของจิตวิญญาณในตัวผมยังคงเหมือนเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง”


ฮิเดโตชิ: “คุณกำลังถ่ายทอดความทรงจำและความฝันในอดีต แล้วปล่อยออกมาอย่างเต็มที่ในหนังเรื่อง Memoria โดยเฉพาะความแตกต่างระหว่างการนอนหลับกับความตาย ทำไมคุณมักค้นหาหัวข้อและประเด็นเหล่านี้?” 

อภิชาติพงศ์: “ผมมักคิดถึงความเชื่อมต่อกันระหว่างตัวหนังกับความฝัน ทำไมพวกเรามีความฝัน? ทำไมเราต้องการหนัง? สำหรับผมแล้วมันเป็นเรื่องทางจิตวิทยา เหมือนตอนที่เรานั่งอยู่ในความมืดแล้วมองไปที่วัตถุสักชิ้น การดูหนังทำให้เรารู้สึกเห็นอกเห็นใจ เข้าถึงความคิดของคนอื่น ทำให้คุณเชื่อมตัวเองกับโลกภายนอกและกลายเป็นผู้รอบรู้ในที่สุด เพราะมันเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิต ผมจึงมักคิดถึงความตาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลายปีที่ผ่านมา ผู้คนที่ใกล้ชิดกับผมได้เสียชีวิต ผมพยายามสร้างหนังราวกับเป็นพินัยกรรมให้สามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้  เราพยายามเขียนพินัยกรรมก่อนจะลาจากโลกไป ผมสูญเสียคนใกล้ชิดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ผมรู้สึกว่าความตายมันใกล้ตัวผมยิ่งกว่าเก่า ผมไม่มีทางเลือกเลยที่จะหวนนึกถึงสิ่งเหล่านี้ครับ"

ฮิเดโตชิ: "ในหนังของคุณ ผมสงสัยเกี่ยวกับตัวละครที่นอนหลับ เมื่อไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลยขณะนอนหลับ นั่นหมายความว่าเขาตายแล้วใช่ไหม? ดูเหมือนเขาหมดลมหายใจจริงๆ การนอนหลับกับความตายเป็นฉากที่สร้างความประทับใจได้สุดจริงๆ”

อภิชาติพงศ์: “ตัวละคร "เจสสิก้า" แสดงโดยทิลด้า ถามตอนที่เขาเริ่มกลับมาหายใจอีกครั้งว่า "ความตายเป็นอย่างไรเหรอ? ผมคิดว่าเขากำลังแสดงให้เธอเห็นว่าการเผชิญหน้ากับความตายนั้นเป็นอย่างไร เมื่อผมพูดถึงความตายในบริบทนี้ มันไม่ใช่เรื่องเชิงลบเลย กลับเป็นเรื่องเชิงบวกด้วยซ้ำ เพราะมันทำให้พวกเราตระหนักถึงการใช้ชีวิต เราจะใช้ชีวิตอย่างไรให้คุ้มค่าที่สุด พอเราสร้างหนัง เราสร้างโลกใบใหม่ขึ้นมา ปลุกปั้นตัวละครด้วยจิตวิญญาณและความทรงจำ พอจบโปรเจค ผู้คนที่ร่วมงานกันต่างจากลา การมีชีวิตและความตายในหนังจึงเป็นสิ่งที่ผมรู้สึกปลาบปลื้มสำหรับการทำงานในอาชีพผู้กำกับหนัง"

อภิชาติพงศ์: "ฮิเด (โตชิ) ผมอยากสร้างความฝันให้เป็นจริง ผมเพียรพยายามอยากที่จะทำงานร่วมกันมานานแล้ว กับทิลด้า ผมรู้สึกว่ามันไม่ใช่เรื่องที่จะต้องมาถ่ายทำในไทยหรือที่สก็อตแลนด์ เราต้องการโลเคชั่นประเทศอื่น สถานที่ๆ พวกเราทั้งสองคนถูกมองว่าเป็นคนนอก"

ฮิเดโตชิ: "ผมรู้สึกเหมือนคุณ มันไม่ควรจะเป็นทั้งเมืองไทยหรือญี่ปุ่น คำถามคือแล้วควรจะเป็นที่ไหนล่ะ? เอาจริงๆ นะ คุณเจ้ยเคยเสนอบทให้ผมโปรเจคหนึ่ง ถ่ายทำในทุ่งที่ปกคลุมไปด้วนหิมะ และผมต้องเปลือยกายด้วย"

 อิชิยามะ (พิธีกร): “ผมคุยกับคุณอภิชาติพงศ์ในงานเทศกาลหนังเมืองคานส์ ตอนที่เขานำหนังเรื่อง Tropical Malady มาฉาย เขาบอกว่าบทนั้นไม่มีข้อกำหนดกฏเกณฑ์ใดๆ ใครๆ ก็สามารถเล่นได้ แม้แต่คนญี่ปุ่นสักคนหนึ่ง ผมเลยโชว์ภาพคุณนิชิจิมะให้ดู คุณอภิชาติพงศ์อยากมอบบทนี้ให้เขา ตอนที่คุณอภิชาติพงศ์มาญี่ปุ่น ทั้งสองเลยได้เจอกัน"

ฮิเดโตชิ: "ตัวละครนี้ดูเหมือนมนุษย์ยุคหินเลย คุณคงไม่รู้ ผมอายุ 50 ปีแล้ว จะให้ไปแก้ผ้าในทุ่งหิมะ แบบว่ามันมากไปหน่อยครับ"

อภิชาติพงศ์: "มันเป็นหนังไซไฟนะ และโปรดักชั่นแพงมากด้วย ผมคิดว่าต้องปรับบทตอนจบนิดนึง ผมคิดว่าผมทำได้นะ ผู้ชมพยายามละสายตาจากภาพสเปเชียลเอฟเฟกต์อันแสนอลังการ แล้วหันไปชมคุณนิชิจิมะที่กำลังนอนกลิ้งไปมาบนทุ่งน้ำแข็งแทน แล้วมีจานบินโฉบเข้ามาใกล้ๆ เหนือศีรษะด้วย


อิชิยามะ (พิธีกร) "โควิดส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการสร้างหนัง อย่างภาพยนตร์เรื่อง Drive My Car ยังคงฉายในโรงหนังที่ญี่ปุ่น ทั้งที่เปิดตัวมานานกว่า 2 เดือนแล้ว มันเป็นเรื่องไม่ธรรมดาเลยนะสำหรับหนังอาร์ทเฮาส์ บางทีแล้วที่ผู้คนเปิดรับนั้นอาจเป็นเพราะว่ามันเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับความสูญเสีย พวกเรารู้สึกเข้าถึงมันได้จากสถานการณ์โควิด"

ฮิเดโตชิ: "Drive My Car เป็นเรื่องราวของผู้หญิงคนหนึ่งที่ขับรถพาผมไปส่ง เราทั้งสองคนมีอายุและภูมิหลังแตกต่างกัน แต่บางครั้งพวกเราก็เข้าถึงกันได้ ตัวละครช่วยเยียวยาบาดแผลในใจ และสามารถดำเนินชีวิตไปด้วยกันได้หลังจากพบกันในครั้งนั้น แลกเปลี่ยนความคิดซึ่งกันและกัน มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงโควิดระบาด พวกเราทุกคนเริ่มใส่ใจคนอื่นทั้งคนที่สนิทสนม กับคนแปลกหน้า นั่นอาจเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมผู้คนต่างรู้สึกเข้าถึงหนังเรื่องนี้ได้”

ฮิเดโตชิ “มีนักแสดงทั้งชายและหญิงจำนวนมากที่สามารถยืนต่อหน้ากล้องโดยไม่รู้สึกกังวลใดๆ เลย แต่ไม่ใช่ผมครับ ผู้กำกับฮามากุจิมักอยู่ที่กองถ่าย เคอยซัพพอร์ตพวกเรา กับตัวละครสมมุติตัวหนึ่งที่ผมต้องใส่ลมหายใจสร้างชีวิตให้เขา มันเป็นเรื่องยาก เป็นขั้นตอนที่ยาก และทุกคนเข้าถึงมันแตกต่างกันไป"

อภิชาติพงศ์: “สำหรับผม สิ่งสำคัญที่ต้องจับมาประสานเข้ากันให้ได้ในฉาก ไม่ใช่โฟกัสแค่ตัวนักแสดงเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงสิ่งแวดล้อมรอบตัวเราด้วย เพราะทุกอย่างล้วนเป็นตัวแสดงทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นฝูงนก หรืออาคารคอนกรีต ทุกอย่างขยับไปมาไปตามแรงลม  เสียงประกอบ และความเคลื่อนไหวของสิ่งต่างๆในฉาก ผมพยายามถ่ายทำทีละตอนตามลำดับ เพื่อให้นักแสดง ทีมงานและตัวผมเองเข้าถึงห้วงอารมณ์ในหนัง ผมกำกับหนังไม่ใช่ในฐานะตัวผู้กำกับกับตัวนักแสดง แต่เป็นมิตรภาพที่เกิดขึ้นระหว่างการทำงานต่างหาก โดยเฉพาะกับนักแสดงคนไทย ผมพยายามฝึกซ้อม และสร้างบทที่เขียนขึ้นในใจ ทำงานไปพร้อมกับพวกเขา แต่ตัวละครที่ทิลด้า สวินตันแสดงในหนังเรื่อง Memoria นั้นไม่ใช่ตัวเธอเลย ไม่ใช่แนวของเธอด้วย และเธอก็ไม่ได้เป็นตัวละครนั้นตลอดเวลาด้วย ตอนที่ผมพูดว่า "คัท!" ปุ๊บ เธอก็กลับมาเป็นทิลด้าคนเดิมอีกครั้ง”


ฮิเดโตชิ: "ผมคิดแต่เพียงว่าเราต้องเล่นบทตัวละครตัวอย่างต่อเนื่องตลอดเวลการถ่ายทำโดยไม่ต้องนึกคิดอะไรทั้งนั้น แต่บางครั้ง ผู้คนบอกผมว่า "ผมแค่เล่นเป็นตัวเอง"

อภิชาติพงศ์: "ผมเห็นด้วย ตอนที่คุณอยู่หน้ากล้อง คุณจำเป็นต้องใส่ที่มาของตัวเอง และความทรงจำของคุณเข้าไปในหนัง มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับนักแสดงทุกคน สำหรับทิลด้าก็เช่นกัน ในฉากสุดท้าย เธอขุดลึกลงไปถึงก้นบึ้งที่มาของตัวเธอเอง มันไม่ใช่เพียงแค่การแสดงออกอารมณ์เท่านั้น แต่มันยังแสดงออกทางกายภาพด้วย 

คุณอภิชาติพงศ์คิดสร้างหนังสักเรื่องในญี่ปุ่นไหม? อภิชาติพงศ์: "จะเผยให้รู้กันปีหน้า ยังไม่ชัดเจนว่าจะทำหนังหรืองานแสดงทางศิลปะแนว installation คงต้องรอเวลาและสถานการณ์โควิดจบลงเมื่อไหร่คงรู้กัน

นิชิจิมะกล่าวถึงโปรเจคการแสดงของเขาที่มีชื่อว่า "Fever Room" น่าจะเป็นจุดแวะเยือนถาวรที่โตเกียวดิสนีย์แลนด์" สายตาของคุณเจ้ยถึงกับลุกวาวในบัดดล


ภาพยนตร์เรื่อง Memoria กำหนดฉายทั่วประเทศญี่ปุ่นในเดือนมีนาคม 2565 ขณะที่หนังเรื่อง Drive My Car กำลังฉายในโรงภาพยนตร์ 

แขกรับเชิญ: ผู้กำกับภาพยนตร์ "คุณอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล", นักแสดงชาวญี่ปุ่น "คุณฮิเดโตชิ นิชิจิมะ" / พิธีกร: คุณอิชิยาม่า โชโซ ผู้อำนวยการจัดโปรแกรมหนัง งานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตเกียว

Image: inStyle Asia





No comments

Post a Comment

©2024 inStyle Asia All Rights Reserved.
Designed by Creatopia Space