ภาพยนตร์ญี่ปุ่นเรื่อง Egoist หรือ エゴイスト ในชื่อภาษาญี่ปุ่น เป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่เข้าร่วมประกวดสาย Competition ในงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตเกียว ครั้งที่ 35 ที่จัดขึ้นเมื่อปลายเดือนตุลาคมปีนี้ ด้วยความเอื้อเฟื้อจากองค์กรเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตเกียว, เทศบาลมหานครโตเกียว และค่ายหนังผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการ เราได้รับเกียรติเข้าสัมภาษณ์แบบเอ็กซ์คูลซีฟกับคุณไดชิ มัทสึนากะ ผู้กำกับจากค่ายเพลง LDH Japan ที่มีประสบการณ์การทำหนังสารคดีมายาวนาน มาร่วมถ่ายทอดแนวคิดเกี่ยวกับการทำหนังวาย และวิธีจัดการปัญหาระหว่างถ่ายทำในสไตล์ของเขากัน
ผู้กำกับฯ ไดชิ มัตสึตากะ หลังสัมภาษณ์ (ภาพ: inStyle Asia) |
InStyle Asia: คุณมีหนัง หรือผู้กำกับภาพยนตร์ในดวงใจไหมครับ?
ไดชิ มัตสึนากะ: มีมากมายหลายคนเลย แต่ที่ผมชอบที่สุด คือ อากิระ คุโรซาว่า และสแตนลีย์ คูบริ้ค ครับ
InStyle Asia: ทำไมคุณถึงชื่นชอบเขาเหรอครับ?
ไดชิ มัทสึนากะ: ทั้งสองคนนี้ ทำหนังออกมาได้อย่างสมบูรณ์แบบ แต่มีสไตล์การทำงานที่แตกต่างกัน ผมคิดว่า อากิระ คุโรซาว่าทำหนังด้วยแนวคิดแบบหลุดจากกรอบเดิมๆ ที่เคยทำกันมา ส่วนคูบริ้คเน้นการคุมรายละเอียดในแต่ละตอน ผมคิดว่าผู้กำกับสองคนนี้เป็นรากฐานสำคัญสำหรับการทำหนังของผมครับ
inStyle Asia: คุณชอบผู้กำกับฯ อากิระ คุโรซาว่า แล้วมีหนังเรื่องโปรดที่กำกับโดยอากิระ คุโรซาว่าไหมครับ?
ไดชิ มัทสึนากะ: "เซเว่น ซามูไร" ครับ
ผู้กำกับฯ ไดชิ มัตสึตากะ หลังสัมภาษณ์ (ภาพ: inStyle Asia) |
InStyle Asia: กรุณาเล่าแนวทางการกำกับหนังในสไตล์ของคุณได้ไหมครับ? จากหนังเรื่อง Egoist ทำไมคุณถึงจับภาพไปที่การเคลื่อนไหวของตัวนักแสดง ไม่ได้ทำให้ผู้ชมรู้สึกว่ากำลังมองพวกเขาแบบห่างๆ แต่เรากำลังเดินตามหลังพวกเขาอยู่
ไดชิ มัทสึนากะ: หลักพื้นฐานสำคัญในการทำงานกำกับหนังของผม คือ ผมมีประสบการณ์สร้างหนังสารคดีมาก่อน การเดินตามหลังนักแสดงนั้นมีที่มาจากประสบการณ์การกำกับหนังสารคดีครับ
แทนที่จะคัดเลือกตัวนักแสดงที่ไม่ตรงกับตัวตนของตัวละครนั้น แล้วใส่บางสิ่งให้พวกเขา หรือให้พวกเขาทำแสดงตามที่ต้องการ แต่ผมคัดตัวนักแสดง เลือกคนที่มีตัวตนเหมือนตัวละครนั้นๆ และดึงเอาจิตวิญญาณของตัวละครที่มีอยู่ในตัวพวกเขาออกมา ผมไม่เปลี่ยนแปลงอะไรในตัวนักแสดง แต่ผมดึงเอาตัวตนของตัวละครนั้นออกมาจากพวกเขา แล้วพยายามถ่ายทำไปตามสิ่งที่พวกเขาแสดงออกมา
Daishi Matsunaga after interview (image: inStyle Asia) |
inStyle Asia: กรุณาบอกให้เราทราบได้ไหมครับว่าเหตุผลหลักสำหรับการคัดเลือกคุณฮิโอะ มิยาซาว่า และเรียวเฮ ซูซูกิมาเป็นนักแสดงนำ?
ไดชิ มัทสึนากะ: ตอนที่เราคัดตัวนักแสดง ผมคุยกับโปรดิวเซอร์ และถกกันเรื่องคัดตัวนักแสดง ครั้งนี้ โปรดิวเซอร์ส่งรายชื่อนักแสดงสองคนให้ผม ผมคิดว่าเคมีของเรียวเฮ ซูซูกิ กับฮิโอะ มิยาซาว่าเข้ากันได้ดีมากครับ และนัั่นคือเหตุผลที่ผมเลือกตัวนักแสดงทั้งสองคน
inStyle Asia: ตอนที่คุณเผชิญกับช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดขณะทำหนังเรื่องนี้ คุณจัดการกับปัญหาอย่างไรครับ?
ไดชิ มัทสึนากะ: งบประมาณและเวลาที่ใช้ถ่ายทำเป็นปัญหาใหญ่ในญี่ปุ่นครับ วิธีที่ผมจัดการกับปัญหาเหล่านี้ คือ ผมคิดบวก ทำงานด้วยการมองโลกในแง่ดี และยังคงสร้างผลงานและรักษาแนวทางการทำงานที่เป็นตัวของตัวเอง ผมคิดว่าเป็นเรื่องน่าท้าทายครับ
สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในหนึ่งฉากถูกถ่ายทำเพียงครั้งเดียวเท่านั้น เพราะการตัดสลับภาพจากฉากหนึ่งไปยังอีกฉากหนึ่งต้องใช้เวลาในการถ่ายทำนาน ผมจำเป็นต้องลดเวลาการทำงาน จึงเลือกใช้วิธีนี้ ดังนั้น การถ่ายทำฉากหนึ่งเพียงคัทเดียว จำเป็นต้องพึ่งบทบาทการแสดงของนักแสดงเป็นหลัก พวกเขาต้องอยู่กับห้วงเวลาที่เป็นปัจจุบันมากๆ ผมรู้สึกมั่นใจว่าผมสามารถกำกับงานออกมาได้อย่างราบรื่น
ผมเลือกใช้ภาพซูมแบบระยะประชิด หรือโคลสอัพช้อตบ่อยครั้งในหนัง ด้วยเหตุผลอีกเรื่องหนึ่ง นั่นคือ งบประมาณที่จำกัดครับ หากผมกำกับหนังด้วยภาพมุมกว้าง เราต้องใส่อะไรต่อมิอะไรมากมายลงไปในฉากนั้นๆ แต่เราไม่มีเวลาและงบประมาณมากพอที่จะทำอย่างนั้นได้ และนี่คือเหตุผลหนึ่งที่ผมถ่ายทำด้วยมุมภาพระยะใกล้บ่อยครั้ง
©Makoto Takayama, Shogakukan/TokyoTheatres Co.,Inc.,NIKKATSU CORPORATION,RIGHTS CUBE Inc.,ROBOT COMMUNICATIONS INC. |
inStyle Asia: ทำไมคุณถึงเลือกทำหนังวายหรือครับ?
ไดชิ มัทสึนากะ: คนที่ต้องการทำหนังเรื่องนี้ตั้งแต่ต้นเลยคือตัวโปรดิวเซอร์ครับ จริงๆ แล้วผมเริ่มทำงานด้วยการเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ และเคยทำหนังสารคดีถ่ายทอดเรื่องราวของเพื่อนผมคนหนึ่งที่เป็นสาวประเภทสอง ผมทำงานในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์สารคดีมานานกว่า 10 ปีแล้ว ผมมักมีหลักการอะไรสักอย่างตอนเริ่มกำกับหนัง ครั้งนี้ ผมอยากทำหนังที่ดัดแปลงมาจากนวนิยายของนักเขียนที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องเพศครับ
©Makoto Takayama, Shogakukan/TokyoTheatres Co.,Inc.,NIKKATSU CORPORATION,RIGHTS CUBE Inc.,ROBOT COMMUNICATIONS INC. |
inStyle Asia: ความสัมพันธ์ระหว่างแม่และลูกชายในเอเชียเป็นวัฒนธรรมที่ดูมีเสน่ห์ เป็นเอกลักษณ์ แม่หลายคนคาดหวังในตัวลูกชายที่จะได้แต่งงาน มีลูก และสร้างครอบครัวที่อบอุ่น แต่ในหนัง คุณแม่ของตัวละครหลักดูเข้าใจสถานการณ์และยอมรับความสัมพันธ์แบบรักร่วมเพศของลูกชาย คำพูดของแม่ในภาพยนตร์อ้างถึงความรักทีไร้เพศ คุณคิดว่าครอบครัวเป็นส่วนสำคัญในชีวิตของคู่รักเพศเดียวกันไหม?
ไดชิ มัทสึนากะ: ผมคิดว่า ไม่น่าจะเป็นตัวคุณแม่ ความจริงแล้วตัวคุณพ่อกลับเป็นบุคคลที่ไม่ยอมรับ หรือยากที่จะรับได้กับความสัมพันธ์แบบเพศเดียวกันของลูกชายครับ
ตอนที่ผมทำหนังเรื่องแรกเกี่ยวกับเพื่อนคนหนึ่งที่เป็นสาวประเภทสอง เราพูดถึงเรื่องครอบครัวของนาง รวมทั้งตัวคุณพ่อที่เป็นคนท้ายสุดที่ไม่ยอมรับเพศสภาพที่แท้จริงของตัวลูกจนถึงวินาทีสุดท้าย แต่ตัวคุณแม่กลับยอมรับข้อเท็จจริงของลูกได้ตั้งแต่ต้น จากประสบการณ์ส่วนตัวของผม คุณแม่มีแนวโน้มที่จะยอมรับเพศสภาพของลูกชายได้ก่อนใครครับ
จริงๆ แล้ว ผมก็ไม่รู้ว่าคนรักเพศเดียวกันกำลังพูดถึงคุณแม่กับคุณพ่อชาวญี่ปุ่นอย่างไร แต่จากประสบการณ์ส่วนตัวของผม ผมไม่คิดว่ามันเป็นเรื่องที่หาดูได้ยาก หรือมีความพิเศษอะไร เป็นสิ่งที่ยอมรับได้ครับ
©Makoto Takayama, Shogakukan/TokyoTheatres Co.,Inc.,NIKKATSU CORPORATION,RIGHTS CUBE Inc.,ROBOT COMMUNICATIONS INC. |
inStyle Asia: ในหนัง "ริวตะ" (ฮิโอะ มิยาซาว่า) รู้สึกอายมาก ไม่อยากให้ใครมองเขา ขณะกำลังเดินจับมือกับ "เคสุเกะ" (เรียวเฮ ซูซูกิ)
การเปิดเผยความสัมพันธ์แบบรักร่วมเพศ หรือการประกาศตัวว่าเป็น LGBTQ ในญี่ปุ่น ยังคงถูกมองว่าเป็นความลับของคนสองคนในสังคม แทนที่จะบอกคนอื่น ผู้คนจำต้องเก็บซ่อนสิ่งเหล่านี้ไว้ไม่บอกใคร คุณคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับประเด็นนี้?
ไดชิ มัทสึนากะ: พูดถึงการเดินจับมือกันของเกย์สองคนแล้ว ผมไม่รู้ว่าสิทธิ์ของผู้คนในต่างประเทศอย่างการจูบกันในที่สาธารณะนั้นเป็นอย่างไร แต่ผมคิดว่าแม้แต่คู่รักชายหญิง (ที่ญี่ปุ่น) นั้นยังคงไม่เปิดกว้าง สำหรับการจูบกันในที่สาธารณะ
ผมคิดว่า หากเป็นผู้หญิงด้วยกัน เช่น หญิงสาวสองคนกำลังเดินจับมือกันในที่สาธารณะ ผู้คนมองว่าพวกเขาเป็นเพื่อนกัน ไม่มีใครคิดว่าทั้งสองเป็นคู่รัก หรือกำลังแสดงออกถึงความรักแบบคนรัก แต่ถ้าเป็นผู้ชายสองคนเดินจับมือกันล่ะก็ มันจะเป็นเรื่องที่ยากกว่าที่จะยอมรับได้ ดังนั้น พวกเขาอาจเลือกที่จะไม่จับมือกันเพื่อเลี่ยงสายตาผู้คนในสังคม แน่นอนว่ามันขึ้นอยู่กับคนแต่ละคนด้วย ผมคิดว่าการที่เกย์สองคนเดินจับมือกันในที่สาธารณะยังคงถูกมองว่าเป็นเรื่องแปลกสักนิด หรือไม่อาจยอมรับได้จากสายตาของผู้คนในสังคมญี่ปุ่นครับ
©Makoto Takayama, Shogakukan/ Tokyo Theatres Co.,Inc., NIKKATSU CORPORATION, RIGHTS CUBE Inc., ROBOT COMMUNICATIONS INC. |
inStyle Asia: ปัจจุบัน การยอมรับกลุ่ม LGBT ในประเทศแถบเอเชียเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างมาก อย่างในประเทศไทย ภาพยนตร์และซีรีย์วายได้รับความนิยมมาก สังคมคนข้ามเพศเปิดกว้างขึ้นมาก พวกเขาสามารถทำงานร่วมกับคนทั่วไปในบริษัทห้างร้าน และใช้ชีวิตในแบบที่พวกเขาต้องการได้
ประเทศญี่ปุ่นมีมังกะและนวนิยายวายมากมาย แต่ทว่าจำนวนภาพยนตร์และซีรีส์วายนั้นกลับตรงกันข้าม ภาพยนตร์และซีรีย์วายมีน้อยเหลือเกินในประเทศญี่ปุ่น คุณคิดว่าญี่ปุ่นสามารถก้าวข้ามกรอบนี้ แล้วสร้างกระแสความนิยมเกี่ยวกับความรักแบบชาย-ชาย สนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่ม LGBTQ ในต่างประเทศ รวมทั้งขยายฐานไปตลาดต่างประเทศได้ไหม?
ไดชิ มัทสึนากะ: เมื่อ 2-3 ปีก่อน ละครที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเกย์ และ LGBTQ นั้นมีน้อยมากๆ ผมไม่สามารถตัดสินได้ว่าหนังและซีรี่ส์วาย (ญี่ปุ่น) นั้นสามารถขยายไปยังตลาดต่างประเทศได้หรือ แต่ผมคิดว่าเราควรสร้างหนังและละครโทรทัศน์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับ LGBT+Q และเกย์ให้มากขึ้น และเผยแพร่จากญี่ปุ่นไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก
©Makoto Takayama, Shogakukan/ Tokyo Theatres Co.,Inc., NIKKATSU CORPORATION, RIGHTS CUBE Inc., ROBOT COMMUNICATIONS INC. |
inStyle Asia: คุณคิดว่าพลังของภาพยนตร์สามารถทำให้ผู้คนเข้าใจสถานการณ์ของกลุ่ม LGBT ที่ญี่ปุ่นได้ไหมครับ?
ไดชิ มัทสึนากะ : มันอาจต้องใช้เวลา แต่ผมหวังว่าผู้คนที่ได้ชมหนังจะเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นนี้มากขึ้น ความพยายามที่จะเข้าใจพวกเขามากยิ่งขึ้นนั้นถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมากๆ แต่ผมก็ไม่รู้ว่ามันจะเป็นอย่างไรต่อไป
inStyle Asia: หลายประเทศในเอเชียต่างต่อสู้ดิ้นรนเพื่อเรียกร้องสิทธิ์เท่าเทียม และการสมรสเท่าเทียมให้ทำได้โดยมีกฎหมายรองรับ คุณพูดถึงประเด็นนี้ในหนังด้วยเมื่อคู่รักไม่สามารถแต่งงานกันได้ตามกฎหมาย ในต่างประเทศนั้น กลุ่ม LGBT ไม่ได้ถูกมองว่าเป็นชนกลุ่มน้อยทางเพศในสังคม แต่พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของสังคม คุณมีความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับประเด็นนี้ในประเทศญี่ปุ่นครับ?
ไดชิ มัทสึนากะ: ญี่ปุ่นค่อนข้างมีพัฒนาการที่ล่าช้าในเรื่องนี้ บางทีแล้วอาจจะช้าที่สุดในบรรดาประเทศที่พัฒนาแล้วด้วยซ้ำ ญี่ปุ่นกำลังเดินตามหลังประเทศอื่นๆ ในประเด็นนี้ครับ กลุ่ม LGBT+Q ไม่ได้รับการยอมรับและไม่เป็นที่เข้าใจโดยกลุ่มคนผู้สร้างกลไกทางสังคม กฏหมาย และการเมืองในญี่ปุ่น คนเหล่านี้ไม่เข้าใจพวกเขา นั่นหมายความว่า เราจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงระบบต่างๆ ในประเทศของเราครับ
inStyle Asia: ฉากที่คุณชอบมากที่สุดในหนังเรื่องนี้? และทำไม่ถึงชอบฉากนี้ครับ?
ไดชิ มัทสึนากะ: ผมชอบฉากที่ริวตะกับเคสุเกะกำลังเก็บสตางค์ที่ตกหล่นบนพื้น เพราะผมไม่สามารถถ่ายภาพในฉากนั้นได้อีก มันก็เหมือนกับภาพยนตร์สารคดีนั่นเอง ช่วงขณะแบบนี้ เป็นฉากที่ตัวนักแสดงเองก็ไม่สามารถทำซ้ำในแบบเดิมได้ ตัวกล้องและส่วนงานที่เกี่ยวข้องสามารถจับภาพในเวลานั้นไว้ได้ มันเป็นฉากที่ไม่มีใครรู้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้น แม้แต่ตัวนักแสดงและทีมงานเองก็ไม่ทราบเลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อจากนี้
inStyle Asia: คุณใช้เวลากำกับหนังเรื่องนี้นานไหมครับ?
ไดชิ มัทสึนากะ: 18 วันครับ แต่รวมเวลาทั้งหมดน่าจะราวๆ 20 วัน โดยรวมช่วงเวลาพักและวันหยุดด้วย เราถ่ายทำหนังเรื่องนี้กันเมื่อปีที่แล้วครับ (ปี 2563)
inStyle Asia: แฟนหนังในต่างประเทศต่างก็เฝ้าคอยที่จะได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้กัน แล้วเมื่อไหร่หนังจะได้ออกฉายในโรงภาพยนตร์ที่ญี่ปุ่นหรือครับ?
ไดชิ มัทสึนากะ: หนังเข้าโรงภาพยนตร์ที่ญี่ปุ่น วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566 ครับ
inStyle Asia: แล้วโปรเจ็กเรื่องถัดไปของคุณล่ะครับ?
ไดชิ มัทสึนากะ: ผมกำลังคิดว่าจะทำหนังอีกประเภทหนึ่ง แต่ว่าตอนนี้ วงการภาพยนตร์ที่ญี่ปุ่นไม่ค่อยดีนัก ผมอยากทำหนังตลาดสักเรื่องที่ทำแล้วขายได้ โดยที่ยังรักษางานประพันธ์ต้นฉบับและดูเป็นงานศิลปะ ตอนนี้ผมกำลังหาธีมที่จะสร้างหนังอยู่ อยากให้หนังได้ออกฉายในต่างประเทศด้วย แต่ตอนนี้มันยังไม่ลงตัวครับ
inStyle Asia: คุณคิดที่จะขยายผลงานของคุณมายังประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศไทยไหม?
ไดชิ มัทสึนากะ: แน่นอนครับ ผมอยากทำหนังที่ไหนสักแห่งในประเทศไทยครับ
inStyle Asia: เราทราบว่าภาพยนตร์เรื่อง Egoist ดัดแปลงจากนวนิยายชีวิต นวนิยายเรื่องนี้ตีพิมพ์และวางจำหน่ายที่ญี่ปุ่นหรือครับ?
ไดชิ มัทสึนากะ: ใช่ครับ วางจำหน่ายแล้วที่ญี่ปุ่น
inStyle Asia: เนื้อเรื่องในนวนิยายน่าสนใจทีเดียวครับ มันเป็นไปได้ที่ผู้ชมอยากอ่านนวนิยายก่อนไปดูหนังหรืออ่านเพื่อเก็บรายละเอียดที่อยากรู้หลังจากได้ชมหนังแล้ว
ไดชิ มัทสึนากะ: นวนิยายเรื่องนี้น่าจะยังไม่มีเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษนะ หากภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ฉายในประเทศไทยแล้วได้รับความนิยมล่ะก็ น่าจะได้รับการตีพิมพ์เป็นภาษาไทยนะครับ (หัวเราะ)
InStyle Asia: พูดถึงหนังไทยเรื่องที่ชอบล่ะครับ?
ไดชิ มัทสึนากะ: ผมชอบหนังเรื่อง "ลุงบุญมีผู้ระลึกชาติ" ของผู้กำกับคนไทย คุณอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุลครับ และอีกเรื่อง คือ "แบล็คไทเกอร์" ครับ เป็นหนังเก่านะ น่าจะ 20ปีได้แล้ว ภาพสีสรรตระการตา สดสว่างมากครับ
โอ้! ต้องขอโทษด้วยครับ แบล็คไทเกอร์เป็นหนังมาเลเซียครับ ไม่ใช่หนังไทย
InStyle Asia: เมื่อ 20 ปีก่อนก็มีหนังไทยเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับนักมวยไทย สาวประเภทสอง เรื่อง "สตรีเหล็ก" คุณอาจชอบหนังเรื่องนี้ก็ได้
ไดชิ มัทสึนากะ: ผมยังไม่เคยดูเลย แต่ฟังแล้วน่าสนใจครับ
inStyle Asia: ขอบคุณมากครับ
ล่าสุด (ปี 2565) ไดชิ มัทสึนากะ ผู้กำกับภาพยนตร์สังกัดค่าย LDH Japan เดินทางมาประเทศไทยบ่อยครั้ง เพื่อถ่ายทำหนังติดตามการทำงานของวง BALLISTIK BOYZ from EXILE TRIBE และ PSYCHIC FEVER ศิลปินวงบอยแบนด์ 2 วงของญี่ปุ่นในค่ายเดียวกันที่มาทำงานและโปรโมทที่ประเทศไทย
©Makoto Takayama, Shogakukan/Tokyo Theatres Co.,Inc., NIKKATSU CORPORATION, RIGHTS CUBE Inc., ROBOT COMMUNICATIONS INC. |
เกี่ยวกับหนัง
เรื่องย่อ: ความรักเป็นความคิดที่เอาแต่ใจตัวเองใช่ไหม? หรือมันเป็นเรื่องของคนสองคนกันแน่... ดัดแปลงจากนวนิยายชีวิตของมาโกโตะ ทาคายาม่า ตัวหนังถ่ายทอดเรื่องราวความรักระหว่างโคสุเกะ นักเขียนบทความแฟชั่น และริวตะ เทรนเนอร์ส่วนตัว
ชื่อเรื่อง: "Egoist" (エゴイスト ในภาษาญี่ปุ่น)
ผู้กำกับภาพยนตร์: ไดชิ มัทสึนากะ (LDH Japan)
นักแสดงนำ: เรียวเฮ ซูซูกิ, ฮิโอะ มิยาซาว่า, ซาวาโกะ อากาว่า.
วันที่เข้าฉายในโรงภาพยนตร์: 10 กุมภาพันธ์ 2566
ภาษาที่พูด: ภาษาญี่ปุ่น
อินสตาแกรม: Egoist Instagram
เว็บไซต์หลัก: Egoist Website