เพลงไทย ในตลาดญี่ปุ่น

เพลงไทย ในตลาดญี่ปุ่น


ในเช้ามืดวันหนึ่งที่โอซาก้า ลองเปิดโทรทัศน์แล้วสะดุดตาสะดุดใจกับรายการ update เพลงไทยรายการหนึ่ง ทางช่องเคเบิ้ล TV ของญี่ปุ่น ชื่อรายการ Let's go Thai POP แม้ฉายเพียง 1 ชั่วโมง เป็นช่วงเวลาสั้นๆ อาทิตย์ละ 1 ชั่วโมง 2 รอบ แต่ก็อดดีใจไม่ได้ ที่เพลงไทยสามารถมีพื้นที่สื่อในญี่ปุ่นได้แล้ว

รายการเพลงที่จัดฉาย ดำเนินการโดยบริษัทญี่ปุ่นที่ได้รับลิขสิทธิ์ เป็นตัวแทนจำหน่ายอัลบั้มเพลงไทยในญี่ปุ่น แต่ทว่าบริษัทญี่ปุ่นที่รับลิขสิทธิ์นี้ ไม่ได้รับลิขสิทธิ์เฉพาะเพลงไทยเท่านั้น แต่ยังจำหน่าย และทำตลาดเพลงจากประเทศลาว กัมพูชา พม่าไปพร้อมๆ กัน ในรายการ Let's go Thai POP ก็จะมีช่วงอัพเดทศิลปินจากลาว กัมพูชาคั่นรายการด้วย ทำให้เกิดความรู้สึกคอนทรัสต์บ้าง เช่น รายการนำเสนอเพลง Thai Pop กลิ่นอายเกาหลีจบ ก็เข้าสู่เพลงสไตล์หมอลำจากประเทศลาว หรือ กัมพูชา คือ เพลงไทยกำลังถูกโปรโมตไปพร้อมกับเพลง และศิลปินจากประเทศเพื่อนบ้านเป็น (เอเชียตะวันออกเฉียงใต้) Asian Pop ไม่ได้ถูกนำเสนอให้เป็นกระแสหลัก แบบ T pop อย่างที่เคยเป็นมา

เรายังพบรายการเพลงไทยอีกรายการหนึ่ง ชื่อว่า T-Pop Now ฉายทางช่อง home drama
(ช่องเคเบิ้ลญี่ปุ่น) ฉายคืนวันพุธ ในรอบสัปดาห์ที่ได้รับชม  ซึ่งฉายตอนตี 2 กว่าๆ (เวลาฉาย 30 นาที) ฉายจบลงพร้อมโชว์เครดิตจากบริษัท B.M.I. สิ่งที่พบ คือ ตัวเพลงช่างขัดแย้งกับชื่อรายการเสียจริงๆ คือ Now ในความหมายที่ว่า "ปัจจุบัน" หรือ "อัพเดทล่าสุด" แต่กลับร้อยเรียงบทเพลงไทยชื่อดังสมัย 5 - 10 ปีที่แล้วมาฉาย อาทิ เพลงของมาช่า สมัยยังสาวรุ่น (สัก 10 ปีมาแล้ว) อัลบั้มแรกสุดของไอซ์ ศรัณยู และภาพ MTV ดูเบลอๆ ซึ่งต้นฉบับเชื่อว่าเป็นภาพที่บันทึกจากเทปวีดีโอ VHS เหมือนฉายเพียงเพื่อลบรอยต่อของเวลาช่วงนั้นยังไงยังงั้น หากคนญี่ปุ่นที่เพิ่งรู้จักเพลงไทย หรือ T Pop มาชมเข้าล่ะก็อาจเข้าใจว่านี่คือภาพและเพลงที่กำลังฮิตอยู่ตอนนี้ในไทยก็เป็นได้

กระแส T Pop เริ่มเป็นที่รู้จักวงกว้างในญี่ปุ่น เมื่อเกือบ 10 ปีก่อน นำโดย "ปาล์มมี่" หรือ "ทาทา ยัง" ทั้งสองยัง
เคยเปิดคอนเสิร์ตที่นี่ด้วย และเมื่อไม่นานมานี้เมื่อ 2 -3 ปีก่อนกับ "กอล์ฟไมค์" เป็นกระแสที่น่าจับตามอง เคยถูกยกย่องให้เป็น New Wave จากไทย พร้อมชนกับกระแสฮันริว (Hanryu) ของเกาหลีที่กำลังเป็นดาวรุ่งพุ่งแรง และ C Pop ทางไต้หวันที่เริ่มร่วงโรยแล้ว หลายนิตยสารบันเทิงเอเชียในญี่ปุ่นเริ่มโปรยหัวปกแมกกาซีนว่า K-Pop, C-Pop และ T-Pop ระหว่างปี 2000 -2006 เป็นช่วงเวลาที่กระแสความนิยมในสื่อบันเทิงไทยเริ่มเป็นที่รู้จักแพร่หลาย รวมทั้งรายการสอนภาษาของสถานีโทรทัศน์ NHK ก็จัดช่วงรายการสอนภาษาไทยออกอากาศทางโทรทัศน์ด้วย ในช่วงเวลาดังกล่าวนอกจากแวดวงเพลงไทยแล้ว ดูเหมือนภาพยนตร์ไทยอย่าง "องค์บาก", "Rocket Man"," "บิวตี้ฟูล บ้อกเซอร์" "สตรีเหล็ก" และภาพยนตร์แอคชั่นอีกมากมายต่างเข้าสู่ยุคดอกไม้บาน ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก

วันนี้ K-pop ยังคงรักษาความต่อเนื่องไว้เช่นเดิม แถมแรงส์จนหยุดไม่อยู่ ขนาดว่าร้าน Mega store ยักษ์ใหญ่อย่าง
Tower Record จัดคอร์เนอร์เฉพาะให้สำหรับกลุ่มเพลงเกาหลีเลยทีเดียว โดยแตกแขนงออกมาจากกลุ่ม World Music 

C-pop ซึ่งเริ่มซาความนิยมลงไปมาก หลังความโด่งดังของนักร้อง F4 เริ่มอิ่มตัว แต่ยังไม่ตายเสียทีเดียว เพราะได้ฐานคนฟังเพลงจากละครจีนไต้หวันที่นักแสดงเหล่านั้นอาจเป็นนักร้องด้วย อาทิ นักร้องจากวง Farenhein รวมทั้งยังมีละครจีน-ไต้หวันใหม่ๆ มานำเสนอเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่องที่ร้านเช่าวีดีโอเชนใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่นอย่าง Tsutaya อัพเดทละครใหม่กันทุกเดือน  


นักแสดง TV ชื่อดังหลายคน อย่างเช่น นักแสดงชาย Josept Chen ยังเป็นพรีเซนเตอร์แนะนำอาหารจีนไต้หวัน สถานที่ท่องเที่ยวของไต้หวันในรายการบันเทิงเอเชียภาษาญี่ปุ่นทางสถานีโทรทัศน์เคเบิ้ลทีวีของญี่ปุ่น ไกดฮบุ้คเที่ยวไต้หวัน นำเสนอแหล่งท่องเที่ยว และเรื่องราวที่น่าสนใจ และยังมีรายการสอนภาษาจีนหลายช่วงทางช่อง NHK (ไต้หวันเองดูเหมือนเดินตามรอยความสำเร็จในแบบเกาหลี นำนักแสดง-นักร้องไต้หวันที่ Hot ในญี่ปุ่น มาเป็น Travel Ambassador) ในขณะที่รายการสอนภาษาไทยที่เคยฉายมาอย่างต่อเนื่องก็ยุติลง รวมทั้งกระแส T Pop เองเริ่มจางหายไปด้วยในเวลาเดียวกัน

เมื่อมองกลับมาที่เพลงไทย การนำเสนอข่าวสาร และการวางจำหน่ายเพลงไทยดูเหมือนขาดความต่อเนื่องอย่างเห็นได้ชัด เทียบกับการทำตลาด
ของเกาหลี บริษัทเพลงเกาหลีเปิดตัวที่ญี่ปุ่นเรียกว่าอย่างน้อยเดือนละอัลบั้มทีเดียว นำเสนอต่อเนื่องมาโดยตลอด ค่ายเพลงจะเปิดตัวกลุ่มศิลปิน ใหม่ และออกอัลบั้มภาษาญี่ปุ่น โปรโมตด้วยเวลาที่รวดเร็วมาก ลงแทบทุกสื่ออีกทั้งสำเนียงภาษาญี่ปุ่นของนักร้องเองอยู่ในขั้นโอเคด้วย เหมือนว่าก่อนเปิดตัวอัลบั้ม พวกเขาไปเทรนด์ไปเรียนภาษากันหนักหน่วงทีเดียว เรียกว่าเปิดตัวแล้วดังแน่นอน (แม้ช่วงสั้นๆ ก็ตาม) สร้างแฟนเพลงใหม่ๆ และต่อยอดเพิ่มแฟนเพลงมากขึ้นเรื่อยๆ ยังไม่นับรวมความนิยมในละครเกาหลีที่กวาดพื้นที่จำนวนละครที่นำเสนอมากกว่าจำนวนละครญี่ปุ่นเจ้าถิ่นได้อย่างน่าทึ่ง เป็นเรื่องน่าแปลกที่ละครเกาหลีเองนอกจากภาพลักษณ์หน้าตาของนักแสดงแล้วก็ไม่ได้โดดเด่น หรือแปลกหวือหวาไปจากละครญี่ปุ่น เลย และละครญี่ปุ่นก็ยังคงฉายในช่วงไพร์มไทม์ตามปกติ แต่ละครเกาหลีสามารถวางตัวแทรกพื้นที่การฉายนอกเวลาไพร์มไทม์ได้ทั้งภาคกลางวัน (แม่บ้าน) และกลางคืน (คนทำงาน) 

นอกจากนี้สื่อนิตยสารก็เป็นตัวประชาสัมพันธ์ที่ดีที่สุด สำหรับสื่อบันเทิงเอเชียในญี่ปุ่น มีเพียงเกาหลีกับไต้หวันเท่านั้รที่มีสื่อสิ่งพิมพ์บันเทิง(ภาษาญี่ปุ่น)ของตัวเองในประเทศญี่ปุ่น และค่ายเพลงเกาหลีที่เปิดตลาดในญี่ปุ่น มักจะมีกำหนดอัพเดทวางจำหน่ายเพลงกับ Tower Record และ HMV ทุกเดือนด้วย (มีตารางอัลบั้มใหม่ล่วงหน้ามาเรื่อยๆ) เรียกว่ามีการวางแผนครบวงจร และทำตลาดแบบบูรณาการ (Intergrated Marketing Communication) ได้อย่างน่าสนใจทีเดียว

สำหรับแวดวงเพลงไทยล่าสุด เริ่มจากปี 2008 ไอซ์ ศรัณยูได้มาเปิดตัวอัลบั้มที่ประเทศญี่ปุ่น แต่ก็เป็นในแบบ
ปาร์ตี้เล็กๆ ออกรายการวิทยุ (สำหรับคนต่างชาติในญี่ปุ่น) และออกแสดงงานไทยเฟสติวัลของกลุ่มคนไทยในญี่ปุ่น และคนญี่ปุ่นที่สนใจไทย แม้ไอซ์จะเปิดตัวอัลบั้มเป็นภาษาญี่ปุ่น แต่มีหลายเงื่อนไขที่ยังทำให้เป็นที่รู้จักในวงแคบ หากเทียบกับวงดนตรีต่างชาติที่ประสบความสำเร็จในญี่ปุ่นก่อนหน้า อย่าง Tohoshinki , John Hoon หรือ K ที่ได้รับความนิยมในวงกว้าง แม้แต่ "ทาทา ยัง" ที่เคยออกอัลบั้มภาษาอังกฤษ (แต่ก็ยังถูกจัดให้เป็น Asian Artist) ตามด้วยทัวร์คอนเสิร์ต I believe พร้อมเซอร์ไพร์สด้วยเพลงภาษาญี่ปุ่น 2 - 3 เพลง น่าเสียดายที่จบคอนเสิร์ตแล้วเธอก็จากแดนอาทิตย์อุทัยไป หากเข้าใจตลาดของญี่ปุ่นแล้วจะพบว่าเมื่อไม่มีอะไรมาใหม่ ไม่มีแรงจูงใจให้รอคอย คนญี่ปุ่นก็พร้อมจะลืมเลือน ด้วยนิสัยของผู้คนที่เบื่อง่าย ชอบสรรหาอะไรใหม่ๆ และพร้อมรับสิ่งที่น่าสนใจกว่าอยู่เสมอ

ล่าสุดกับ Neko Jump ที่ได้ออกอัลบั้มในญี่ปุ่น เปิดตัวด้วยเพลงประกอบการ์ตูนญี่ปุ่น แต่ก็ได้รับความนิยมในวงแคบ และนำเสนอตามสื่อเฉพาะกลุ่ม (เพลงอนิเมชั่น) ไม่ได้เป็น Mass Popular ปาฏิหาริย์ "ทาทา ยัง" และเริ่มซาไปแล้วทั้งที่เปิดตัวได้เพียง 3 - 4 เดือน หากเทียบกับการวางแผนการตลาดของค่ายเพลงเกาหลีในญี่ปุ่น เมื่อกระแพร้อมยิงกลุ่มถัดไป หรืออับั้มชุดใหม่ตามมาทันที ไทยเรายังเป็นรองมากมายนัก รวมทั้งระบบการสร้างข่าว และการสื่อสารระหว่างแฟนคลับ ในสื่อเว็บบล็อคญี่ปุ่นชั้นนำ (Mixi, Geocities, Ameblo ฯลฯ) ที่ยังไม่มีค่ายไหนเริ่มบุกเบิก แม้แต่บริษัทญี่ปุ่นผู้ได้รับลิขสิทธิ์จัดจำหน่ายยังคงเน้นไปที่ "การขาย" มากกว่า "การประชาสัมพันธ์ให้รู้จัก"

ไม่เพียงแวดวงเพลงไทยเท่านั้น ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่าจะมีละครไทยมาเปิดตัววางจำหน่ายที่ญี่ปุ่น
แต่แล้วในปลายปี 2009 มีละครเรื่องสงครามนางฟ้ามาเปิดตัว นับเป็นข่าวดีที่สุด แต่อนิจจาไม่มีพื้นที่สำหรับแฟนคลับละครไทยหนังไทยในญี่ปุ่นให้สื่อสาร รับข่าวสารล่าสุดแบบออฟิเชียลจากค่ายเพลงค่ายหนังแม้แต่เว็บเดียว (แนะนำละคร-ภาพยนตร์ เรื่องที่จะวางตลาดต่อไป ฯลฯ) และคนไทยเองคงไม่ได้เป็นทาร์เก็ท เพราะแม้แต่สื่อสิ่งพิมพ์สำหรับคนไทยในญี่ปุ่นก็ไร้ซึ่งโฆษณาใดๆ  ละครเรื่องสงครามนางฟ้าอาจได้อานิสงค์ความดังจากประเทศจีน แต่การเล่าเรื่องและเนื้อหาที่ไม่สอดรับกับจริตของผู้ชมชาวญี่ปุ่น ภาพจิกตบแย่งชิงสามีภรรยาหาชมได้น้อยมากในละคร-ภาพยนตร์ญี่ปุ่น หากดูพฤติกรรมผู้บริโภคแล้วย่อมคาดเดาทิศทางได้ไม่ยาก เทียบกับละครชวนละเมอเพ้อฝันแบบเกาหลีที่พระเอกที่ดูหล่อเหลาย้อนเวลาตามหารัก เรื่องอาหารการกิน หรือสงครามในรั้วในวัง จะพบว่ายุคที่ละคร-ภาพยนตร์ญี่ปุ่นบูมสุดขีดก็เดินเรื่องด้วยเนื้อหาเหล่านี้มาก่อน

การขาดความต่อเนื่อง  คือ ฟังเพลงไทยอัลบั้มนี่จบ หรือดูละครนี้จบแล้วก็จบเลย ไม่มีอะไรใหม่มาต่อแล้ว ทำให้กระแส T POP เริ่มจางหายไป เมื่อไรนะ... ที่กระแส T POP จะกลับมาบูมอีกครั้ง ...



ผู้เขียน: inStyle Asia



No comments

Post a Comment

©2024 inStyle Asia All Rights Reserved.
Designed by Creatopia Space