ความเหมือนที่แตกต่างระหว่างหนัง KOIZORA กับ October Sonata

ภาพยนตร์ญี่ปุ่นเรื่อง Koizora (恋空) จากนิยาย Best Seller ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2005 ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์โดยผู้กำกับ Natsuki Imai ในปี 2007 ภาพยนตร์เล่าเรื่องราวความรักของ Mika Tahara (นำแสดงโดย Yui Aragaki) สาวมัธยมปลาย ด้วยชะตากรรมที่พบกัน ทำใหเธอตกหลุมรัก Hiro (นำแสดงโดย Haruma Miura) ชายหนุ่มร่วมชั้นเรียนเดียวกัน แต่โรคร้ายทำให้เขาต้องแสร้งตีจากเธอ เขาดูห่างเหินเย็นชากับเธอเหลือเกิน ในช่องว่างของความสัมพันธ์ Mika ได้พบกับ Yu เพื่อนร่วมชั้นที่รักเธอ คอยตามเธอ แต่ทว่าในใจของ Mika มีเพียง Hiro เท่านั้น ทุกค่ำคืนของวันอันหนาวเหน็บในฤดูหนาว เธอจะไปยังที่แห่งหนึ่ง เป็นเสมือนที่นัดหมาย Hiro และเธอเคยมีความหลังด้วยกัน ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปเพียงไร เธอจะไปยังที่แห่งนี้ในวันนี้ แม้จะพบเพียงความว่างเปล่าก็ตาม จนกระทั่งวันหนึ่งความจริงได้ปรากฎ Hiro เริ่มป่วยหนัก Mika อยู่เคียงข้างเขาจนวันสุดท้ายแห่งชีวิต เหลือเพียงลูกในท้องที่เกิดจาก Hiro เป็นพยานแห่งรัก



หากเอ่ยถึงภาพยนตร์ไทยแนวเดียวกันแล้วล่ะก็ ทำให้นึกถึงเรื่อง "รักที่รอคอย" หรือ  "October Sonata" เรื่องราวทั้งสองต่างมีจุดร่วมเดียวกัน October Sonata สอดแทรกความขัดแย้งของสังคมไทยในยุคสมัยนั้น ระหว่างชนชั้นผู้ดี และไพร่ (กรรมกร) เช่นเดียวกับ Koizora ที่สอดแทรกความขัดแย้งระหว่างครอบครัวฝ่ายหญิงที่สงวนท่าทีไม่ใยดียอมรับครอบครัวฝ่ายชาย และ Hiro ผู้ที่ทำให้ลูกสาวเธอตั้งครรภ์ระหว่างเรียน

รวมทั้งจุดเด่นเชิงสัญลักษณ์ของภาพยนตร์ นั่นคือ สถานที่ที่ "เพลิน" หญิงสาวเฝ้ารอคอยชายหนุ่มที่บ้านพักโรงแรม สถานที่แห่งความหลังของเขาทั้งสอง กับ "Mika" ผู้เฝ้าคอยชายคนรัก ณ พุ่มไม้บนภูเขาที่ปกคลุมไปด้วยหิมะขาวโพลน ในวันเดียวกันนั้นทุกๆ ปี เธอจะต้องไปยังที่สถานที่แห่งนี้

ในระหว่างการรอคอยที่ดูสิ้นหวังเหลือเกิน "ลิ้ม"ชายหนุ่มเชื้อสายจีนได้เข้ามาติดพันกับ "เพลิน" เช่นเดียวกับ "Yu" (นำแสดงโดย Keisuke Koide) ก็เข้ามาสานสัมพันธ์กับ Mika พร้อมมอบแหวนหมั้น จนเกือบจะแฮปปี้เอนดิ้งทีเดียว แต่แล้วหญิงสาวทั้ง 2 เรื่องต่างละทิ้งโอกาสอันล้ำค่าเหล่านั้น กลับไปยังสถานที่แห่งความหลัง รอวันจะได้พบชายคนรักอีกครั้ง ท้ายที่สุดแล้วชายคนรักของหญิงสาวทั้งสองก็ด่วนจากไป


อาจกล่าวได้ว่า Koizora คือ ภาพสะท้อนความรักแรก (Jun-ai หรือ Pure Love) ของ "Mika" สาวมัธยมญี่ปุ่น ที่พลาดพลั้งจนนำไปสู่การตั้งครรภ์ระหว่างเรียน และปัญหาการเลือกระหว่างคนรักที่ไม่ใยดี กับคนที่แสนดีแต่ไม่ได้รัก เช่นเดียวกับ "เพลิน" สาวผู้ใช้แรงงาน ที่ต้องเผชิญกับการเลือกเช่นเดียวกัน แต่ทั้งสองก็เลือกในสิ่งที่เธอต้องการ แม้ว่าสิ่งนั้นอาจทำให้ต้องอยู่ไปคนเดียวตลอดชีวิต

"ที่ใดมีรัก ที่นั่นย่อมมีทุกข์" ดูเหมือนคำกล่าวนี้ดูจะไม่เกินเลยไปนักสำหรับสถานการณ์ในภาพยนตร์ แต่ในความทุกข์ที่ดำเนินไป เธอเลือกดำรงชีวิตตามใจปรารถนา เต็มไปด้วยอิสรภาพ มีความสุขในหนทางที่ได้เลือก

「きみは幸せでしたか?」
"ระหว่างที่เธอหายไป มีความสุขดีไหมนะ"
หากได้รักใครสักคนจนสุดหัวใจแล้ว บางทีความรัก และการรอคอย อาจทำให้ชีวิตคนเราเปลี่ยนไปก็เป็นได้

 

ติดตามข่าติดตามข่าวสารที่น่าสนใจได้ทางอินสตาแกรม inStyleAsia

บทความโดย Teeper

เพลงไทย ในตลาดญี่ปุ่น

เพลงไทย ในตลาดญี่ปุ่น


ในเช้ามืดวันหนึ่งที่โอซาก้า ลองเปิดโทรทัศน์แล้วสะดุดตาสะดุดใจกับรายการ update เพลงไทยรายการหนึ่ง ทางช่องเคเบิ้ล TV ของญี่ปุ่น ชื่อรายการ Let's go Thai POP แม้ฉายเพียง 1 ชั่วโมง เป็นช่วงเวลาสั้นๆ อาทิตย์ละ 1 ชั่วโมง 2 รอบ แต่ก็อดดีใจไม่ได้ ที่เพลงไทยสามารถมีพื้นที่สื่อในญี่ปุ่นได้แล้ว

รายการเพลงที่จัดฉาย ดำเนินการโดยบริษัทญี่ปุ่นที่ได้รับลิขสิทธิ์ เป็นตัวแทนจำหน่ายอัลบั้มเพลงไทยในญี่ปุ่น แต่ทว่าบริษัทญี่ปุ่นที่รับลิขสิทธิ์นี้ ไม่ได้รับลิขสิทธิ์เฉพาะเพลงไทยเท่านั้น แต่ยังจำหน่าย และทำตลาดเพลงจากประเทศลาว กัมพูชา พม่าไปพร้อมๆ กัน ในรายการ Let's go Thai POP ก็จะมีช่วงอัพเดทศิลปินจากลาว กัมพูชาคั่นรายการด้วย ทำให้เกิดความรู้สึกคอนทรัสต์บ้าง เช่น รายการนำเสนอเพลง Thai Pop กลิ่นอายเกาหลีจบ ก็เข้าสู่เพลงสไตล์หมอลำจากประเทศลาว หรือ กัมพูชา คือ เพลงไทยกำลังถูกโปรโมตไปพร้อมกับเพลง และศิลปินจากประเทศเพื่อนบ้านเป็น (เอเชียตะวันออกเฉียงใต้) Asian Pop ไม่ได้ถูกนำเสนอให้เป็นกระแสหลัก แบบ T pop อย่างที่เคยเป็นมา

เรายังพบรายการเพลงไทยอีกรายการหนึ่ง ชื่อว่า T-Pop Now ฉายทางช่อง home drama
(ช่องเคเบิ้ลญี่ปุ่น) ฉายคืนวันพุธ ในรอบสัปดาห์ที่ได้รับชม  ซึ่งฉายตอนตี 2 กว่าๆ (เวลาฉาย 30 นาที) ฉายจบลงพร้อมโชว์เครดิตจากบริษัท B.M.I. สิ่งที่พบ คือ ตัวเพลงช่างขัดแย้งกับชื่อรายการเสียจริงๆ คือ Now ในความหมายที่ว่า "ปัจจุบัน" หรือ "อัพเดทล่าสุด" แต่กลับร้อยเรียงบทเพลงไทยชื่อดังสมัย 5 - 10 ปีที่แล้วมาฉาย อาทิ เพลงของมาช่า สมัยยังสาวรุ่น (สัก 10 ปีมาแล้ว) อัลบั้มแรกสุดของไอซ์ ศรัณยู และภาพ MTV ดูเบลอๆ ซึ่งต้นฉบับเชื่อว่าเป็นภาพที่บันทึกจากเทปวีดีโอ VHS เหมือนฉายเพียงเพื่อลบรอยต่อของเวลาช่วงนั้นยังไงยังงั้น หากคนญี่ปุ่นที่เพิ่งรู้จักเพลงไทย หรือ T Pop มาชมเข้าล่ะก็อาจเข้าใจว่านี่คือภาพและเพลงที่กำลังฮิตอยู่ตอนนี้ในไทยก็เป็นได้

กระแส T Pop เริ่มเป็นที่รู้จักวงกว้างในญี่ปุ่น เมื่อเกือบ 10 ปีก่อน นำโดย "ปาล์มมี่" หรือ "ทาทา ยัง" ทั้งสองยัง
เคยเปิดคอนเสิร์ตที่นี่ด้วย และเมื่อไม่นานมานี้เมื่อ 2 -3 ปีก่อนกับ "กอล์ฟไมค์" เป็นกระแสที่น่าจับตามอง เคยถูกยกย่องให้เป็น New Wave จากไทย พร้อมชนกับกระแสฮันริว (Hanryu) ของเกาหลีที่กำลังเป็นดาวรุ่งพุ่งแรง และ C Pop ทางไต้หวันที่เริ่มร่วงโรยแล้ว หลายนิตยสารบันเทิงเอเชียในญี่ปุ่นเริ่มโปรยหัวปกแมกกาซีนว่า K-Pop, C-Pop และ T-Pop ระหว่างปี 2000 -2006 เป็นช่วงเวลาที่กระแสความนิยมในสื่อบันเทิงไทยเริ่มเป็นที่รู้จักแพร่หลาย รวมทั้งรายการสอนภาษาของสถานีโทรทัศน์ NHK ก็จัดช่วงรายการสอนภาษาไทยออกอากาศทางโทรทัศน์ด้วย ในช่วงเวลาดังกล่าวนอกจากแวดวงเพลงไทยแล้ว ดูเหมือนภาพยนตร์ไทยอย่าง "องค์บาก", "Rocket Man"," "บิวตี้ฟูล บ้อกเซอร์" "สตรีเหล็ก" และภาพยนตร์แอคชั่นอีกมากมายต่างเข้าสู่ยุคดอกไม้บาน ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก

วันนี้ K-pop ยังคงรักษาความต่อเนื่องไว้เช่นเดิม แถมแรงส์จนหยุดไม่อยู่ ขนาดว่าร้าน Mega store ยักษ์ใหญ่อย่าง
Tower Record จัดคอร์เนอร์เฉพาะให้สำหรับกลุ่มเพลงเกาหลีเลยทีเดียว โดยแตกแขนงออกมาจากกลุ่ม World Music 

C-pop ซึ่งเริ่มซาความนิยมลงไปมาก หลังความโด่งดังของนักร้อง F4 เริ่มอิ่มตัว แต่ยังไม่ตายเสียทีเดียว เพราะได้ฐานคนฟังเพลงจากละครจีนไต้หวันที่นักแสดงเหล่านั้นอาจเป็นนักร้องด้วย อาทิ นักร้องจากวง Farenhein รวมทั้งยังมีละครจีน-ไต้หวันใหม่ๆ มานำเสนอเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่องที่ร้านเช่าวีดีโอเชนใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่นอย่าง Tsutaya อัพเดทละครใหม่กันทุกเดือน  


นักแสดง TV ชื่อดังหลายคน อย่างเช่น นักแสดงชาย Josept Chen ยังเป็นพรีเซนเตอร์แนะนำอาหารจีนไต้หวัน สถานที่ท่องเที่ยวของไต้หวันในรายการบันเทิงเอเชียภาษาญี่ปุ่นทางสถานีโทรทัศน์เคเบิ้ลทีวีของญี่ปุ่น ไกดฮบุ้คเที่ยวไต้หวัน นำเสนอแหล่งท่องเที่ยว และเรื่องราวที่น่าสนใจ และยังมีรายการสอนภาษาจีนหลายช่วงทางช่อง NHK (ไต้หวันเองดูเหมือนเดินตามรอยความสำเร็จในแบบเกาหลี นำนักแสดง-นักร้องไต้หวันที่ Hot ในญี่ปุ่น มาเป็น Travel Ambassador) ในขณะที่รายการสอนภาษาไทยที่เคยฉายมาอย่างต่อเนื่องก็ยุติลง รวมทั้งกระแส T Pop เองเริ่มจางหายไปด้วยในเวลาเดียวกัน

เมื่อมองกลับมาที่เพลงไทย การนำเสนอข่าวสาร และการวางจำหน่ายเพลงไทยดูเหมือนขาดความต่อเนื่องอย่างเห็นได้ชัด เทียบกับการทำตลาด
ของเกาหลี บริษัทเพลงเกาหลีเปิดตัวที่ญี่ปุ่นเรียกว่าอย่างน้อยเดือนละอัลบั้มทีเดียว นำเสนอต่อเนื่องมาโดยตลอด ค่ายเพลงจะเปิดตัวกลุ่มศิลปิน ใหม่ และออกอัลบั้มภาษาญี่ปุ่น โปรโมตด้วยเวลาที่รวดเร็วมาก ลงแทบทุกสื่ออีกทั้งสำเนียงภาษาญี่ปุ่นของนักร้องเองอยู่ในขั้นโอเคด้วย เหมือนว่าก่อนเปิดตัวอัลบั้ม พวกเขาไปเทรนด์ไปเรียนภาษากันหนักหน่วงทีเดียว เรียกว่าเปิดตัวแล้วดังแน่นอน (แม้ช่วงสั้นๆ ก็ตาม) สร้างแฟนเพลงใหม่ๆ และต่อยอดเพิ่มแฟนเพลงมากขึ้นเรื่อยๆ ยังไม่นับรวมความนิยมในละครเกาหลีที่กวาดพื้นที่จำนวนละครที่นำเสนอมากกว่าจำนวนละครญี่ปุ่นเจ้าถิ่นได้อย่างน่าทึ่ง เป็นเรื่องน่าแปลกที่ละครเกาหลีเองนอกจากภาพลักษณ์หน้าตาของนักแสดงแล้วก็ไม่ได้โดดเด่น หรือแปลกหวือหวาไปจากละครญี่ปุ่น เลย และละครญี่ปุ่นก็ยังคงฉายในช่วงไพร์มไทม์ตามปกติ แต่ละครเกาหลีสามารถวางตัวแทรกพื้นที่การฉายนอกเวลาไพร์มไทม์ได้ทั้งภาคกลางวัน (แม่บ้าน) และกลางคืน (คนทำงาน) 

นอกจากนี้สื่อนิตยสารก็เป็นตัวประชาสัมพันธ์ที่ดีที่สุด สำหรับสื่อบันเทิงเอเชียในญี่ปุ่น มีเพียงเกาหลีกับไต้หวันเท่านั้รที่มีสื่อสิ่งพิมพ์บันเทิง(ภาษาญี่ปุ่น)ของตัวเองในประเทศญี่ปุ่น และค่ายเพลงเกาหลีที่เปิดตลาดในญี่ปุ่น มักจะมีกำหนดอัพเดทวางจำหน่ายเพลงกับ Tower Record และ HMV ทุกเดือนด้วย (มีตารางอัลบั้มใหม่ล่วงหน้ามาเรื่อยๆ) เรียกว่ามีการวางแผนครบวงจร และทำตลาดแบบบูรณาการ (Intergrated Marketing Communication) ได้อย่างน่าสนใจทีเดียว

สำหรับแวดวงเพลงไทยล่าสุด เริ่มจากปี 2008 ไอซ์ ศรัณยูได้มาเปิดตัวอัลบั้มที่ประเทศญี่ปุ่น แต่ก็เป็นในแบบ
ปาร์ตี้เล็กๆ ออกรายการวิทยุ (สำหรับคนต่างชาติในญี่ปุ่น) และออกแสดงงานไทยเฟสติวัลของกลุ่มคนไทยในญี่ปุ่น และคนญี่ปุ่นที่สนใจไทย แม้ไอซ์จะเปิดตัวอัลบั้มเป็นภาษาญี่ปุ่น แต่มีหลายเงื่อนไขที่ยังทำให้เป็นที่รู้จักในวงแคบ หากเทียบกับวงดนตรีต่างชาติที่ประสบความสำเร็จในญี่ปุ่นก่อนหน้า อย่าง Tohoshinki , John Hoon หรือ K ที่ได้รับความนิยมในวงกว้าง แม้แต่ "ทาทา ยัง" ที่เคยออกอัลบั้มภาษาอังกฤษ (แต่ก็ยังถูกจัดให้เป็น Asian Artist) ตามด้วยทัวร์คอนเสิร์ต I believe พร้อมเซอร์ไพร์สด้วยเพลงภาษาญี่ปุ่น 2 - 3 เพลง น่าเสียดายที่จบคอนเสิร์ตแล้วเธอก็จากแดนอาทิตย์อุทัยไป หากเข้าใจตลาดของญี่ปุ่นแล้วจะพบว่าเมื่อไม่มีอะไรมาใหม่ ไม่มีแรงจูงใจให้รอคอย คนญี่ปุ่นก็พร้อมจะลืมเลือน ด้วยนิสัยของผู้คนที่เบื่อง่าย ชอบสรรหาอะไรใหม่ๆ และพร้อมรับสิ่งที่น่าสนใจกว่าอยู่เสมอ

ล่าสุดกับ Neko Jump ที่ได้ออกอัลบั้มในญี่ปุ่น เปิดตัวด้วยเพลงประกอบการ์ตูนญี่ปุ่น แต่ก็ได้รับความนิยมในวงแคบ และนำเสนอตามสื่อเฉพาะกลุ่ม (เพลงอนิเมชั่น) ไม่ได้เป็น Mass Popular ปาฏิหาริย์ "ทาทา ยัง" และเริ่มซาไปแล้วทั้งที่เปิดตัวได้เพียง 3 - 4 เดือน หากเทียบกับการวางแผนการตลาดของค่ายเพลงเกาหลีในญี่ปุ่น เมื่อกระแพร้อมยิงกลุ่มถัดไป หรืออับั้มชุดใหม่ตามมาทันที ไทยเรายังเป็นรองมากมายนัก รวมทั้งระบบการสร้างข่าว และการสื่อสารระหว่างแฟนคลับ ในสื่อเว็บบล็อคญี่ปุ่นชั้นนำ (Mixi, Geocities, Ameblo ฯลฯ) ที่ยังไม่มีค่ายไหนเริ่มบุกเบิก แม้แต่บริษัทญี่ปุ่นผู้ได้รับลิขสิทธิ์จัดจำหน่ายยังคงเน้นไปที่ "การขาย" มากกว่า "การประชาสัมพันธ์ให้รู้จัก"

ไม่เพียงแวดวงเพลงไทยเท่านั้น ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่าจะมีละครไทยมาเปิดตัววางจำหน่ายที่ญี่ปุ่น
แต่แล้วในปลายปี 2009 มีละครเรื่องสงครามนางฟ้ามาเปิดตัว นับเป็นข่าวดีที่สุด แต่อนิจจาไม่มีพื้นที่สำหรับแฟนคลับละครไทยหนังไทยในญี่ปุ่นให้สื่อสาร รับข่าวสารล่าสุดแบบออฟิเชียลจากค่ายเพลงค่ายหนังแม้แต่เว็บเดียว (แนะนำละคร-ภาพยนตร์ เรื่องที่จะวางตลาดต่อไป ฯลฯ) และคนไทยเองคงไม่ได้เป็นทาร์เก็ท เพราะแม้แต่สื่อสิ่งพิมพ์สำหรับคนไทยในญี่ปุ่นก็ไร้ซึ่งโฆษณาใดๆ  ละครเรื่องสงครามนางฟ้าอาจได้อานิสงค์ความดังจากประเทศจีน แต่การเล่าเรื่องและเนื้อหาที่ไม่สอดรับกับจริตของผู้ชมชาวญี่ปุ่น ภาพจิกตบแย่งชิงสามีภรรยาหาชมได้น้อยมากในละคร-ภาพยนตร์ญี่ปุ่น หากดูพฤติกรรมผู้บริโภคแล้วย่อมคาดเดาทิศทางได้ไม่ยาก เทียบกับละครชวนละเมอเพ้อฝันแบบเกาหลีที่พระเอกที่ดูหล่อเหลาย้อนเวลาตามหารัก เรื่องอาหารการกิน หรือสงครามในรั้วในวัง จะพบว่ายุคที่ละคร-ภาพยนตร์ญี่ปุ่นบูมสุดขีดก็เดินเรื่องด้วยเนื้อหาเหล่านี้มาก่อน

การขาดความต่อเนื่อง  คือ ฟังเพลงไทยอัลบั้มนี่จบ หรือดูละครนี้จบแล้วก็จบเลย ไม่มีอะไรใหม่มาต่อแล้ว ทำให้กระแส T POP เริ่มจางหายไป เมื่อไรนะ... ที่กระแส T POP จะกลับมาบูมอีกครั้ง ...



ผู้เขียน: inStyle Asia



ควันไฟความแค้นที่หลงเหลือ: MW ภาพยนตร์แห่งปี 2009!


หากโลกเรามีด้านสว่างกับด้านมืด คงเปรียบได้กับนักบุญ Garai กับ Michio Yuki ในภาพยนตร์เรื่อง MW (มิว) หลายๆ ท่านอาจไม่ทราบว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ถ่ายทำในประเทศไทยด้วย และมีความน่าสนใจที่เนื้อเรื่องของหนังสร้างจากการ์ตูนสุดฮิตของปรมาจารย์ manga อย่าง Ozamu Tezuka และนับเป็นเรื่องที่ไม่ธรรมดาที่ตัวละครเอกรับบทบาทเป็นโฮโมเซ็กช่วล เป็นเนื้อเรื่องที่แรง ฉีกแนวไปจากการ์ตูนแนวธรรมเนียมนิยมในยุค 70s และสังคมญี่ปุ่นทีเดียว




เรื่องราวเริ่มต้นหลังสงครามสิ้นสุด เหมือนว่ารัฐบาลญี่ปุ่นได้ทดลองปรมาณู มีการฆ่าคนตายมากมายในหมู่บ้านบนเกาะแห่งหนึ่งเพื่อปกปิดความลับ แต่ปรากฎว่ามีเด็กหนุ่มสองคนรอดมาได้ คนหนึ่งจิตใจเต็มเปี่ยมไปด้วยความเคียดแค้น พร้อมสังหารคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในโศกนาฎกรรมครั้งนั้น รวมทั้งผู้คนรอบข้างก็ไม่ละเว้น และอีกหนึ่งที่หันหลังให้กับอดีตแล้วหันหน้าเข้าหาพระศาสนา แม้ทั้งสองจะเป็นคู่รัก แต่ท้ายสุดแล้วทั้งสองกลับต้องผจญกับชะตากรรมร่วมกันอย่างไม่อาจเลี่ยงได้ 




ความน่าสนใจของหนังอยู่ที่การเล่าเรื่องราวได้อย่างกระชับรวดเร็ว โดยผู้กำกับ Hiroshi Iwamoto และบทบาทการแสดงของนักฆ่าอำมหิตอย่าง Tamaki Hiroshi และนักบุญ Yamada Takayuki ที่ทำให้ตัวภาพยนตร์ดูน่าสนใจไม่น้อย คำว่า MW เองที่แท้แล้ว คือ อักษรเดียวกัน (แต่กลับหัวกัน หรือนัยยะสือถึงเพศสภาพ) รวมไปถึงภาพของศูนย์การค้า Zen สยามสแควร์ และรถไฟฟ้า BTS ที่ปรากฎโลดแล่นในโลกภาพยนตร์ญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก


ภาพการก่อวินาศกรรม ความแค้นของตัวละครในภาพยนตร์ บางทีแล้วอาจทำให้ท่านย้อนนึกถึงเหตุการณ์โศกนาฎกรรมที่สถานีรถไฟใต้ดินของลัทธิโอมชินริเกียวเมื่อหลายปีที่ผ่านมา พร้อมฉุกคิดขึ้นว่า "เกิดอะไรขึ้นในสังคมญี่ปุ่นกัน!?!"

Text: inStyle Asia

ความทรงจำแห่งรัก Sayonara Itsuka ภาพยนตร์สุดโรแมนซ์แห่งปี 2010!

สักวันหนึ่ง วันที่เราต้องจากลา
Sayonara Itsuka (サヨナラいつか)


เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2010 ที่ผ่านมา เป็นช่วงคืนวันที่อากาศหนาวเหน็บ ใกล้วาเลนไทน์เข้ามาทุกทีๆ สาวๆ หลายคนเริ่มมองหาช้อคโกแล้ตเป็นสื่อแทนใจให้ชายหนุ่มในดวงใจ ร้านค้าเริ่มสรรหาช้อคโกแล้ตกิ้ฟเซ็ทออกวางขาย บรรยากาศดูคึกครื้นมากมาย เป็นวันที่เราได้พบโปสเตอร์ขนาดใหญ่สะดุดตาสะดุดใจ นั่นคือ ภาพยนตร์ญี่ปุ่นเรื่อง Sayonara Itsuka ออกฉายในโรงที่เต็มไปด้วยผู้คนกำลังนั่งรอคอย ภาพโปสเตอร์รถ Tuk Tuk สามล้อเครื่องบนถนนในกรุงเทพฯ ทำให้เกิดความใคร่รู้เป็นหนักหนาว่าเป็นหนังเกี่ยวกับอะไรหรือ



แม่เหล็กดึงดูดของภาพยนตร์ ได้นักแสดงนำอย่าง Miho Nakayama ที่ห่างหายจากจอเงินนานนับ 10 ปี นับตั้งแต่เรื่องท้ายที่เธอแสดง คือ Love Letter ของผู้กำกับ Shunji Iwai แล้วเธอก็ยุติบทบาทการแสดงภาพยนตร์ แล้วย้ายไปอยู่ต่างประเทศ จึงเป็นอะไรที่น่าสนใจไม่น้อย นอกเหนือไปจากเนื้อเรื่องที่สร้างมาจากพ้อคเก็ตบุ้คขายดี Top 10 ของญี่ปุ่น และตัวผู้กำกับชาวเกาหลี รวมทั้งทีมงานเกาหลีที่น่าจะมีกลวิธีการเล่าเรื่องได้โดนใจในแบบฉบับเกาหลีที่สามารถสร้างอารมณ์ร่วมให้คนดูได้อย่างมีชั้นเชิง


ภาพยนตร์เล่าเรื่องราวของหญิงสาวญี่ปุ่นที่มีเสน่ห์ กับชายหนุ่มที่หมั้นหมายเตรียมแต่งงาน อนาคตไกลเปี่ยมไปด้วยความฝัน เรื่องราวเริ่มต้น ณ กรุงเทพฯ ในช่วงเวลาที่สงครามเวียดนามสงบลง ภาพบรรยากาศของร้านบาร์อเมริกันสไตล์ รวมทั้งมนต์เสน่ห์ของตลาดน้ำ และโรงแรมโอเรียนเต็ลที่ทั้งสองได้พบรักกัน เธอพร้อมให้รถราคาแพงที่พระเอกใฝ่ฝันอยากได้ ให้ความสุขเติมเต็มความฝันของชายหนุ่ม แต่เขากลับปฎิเสธ พร้อมจากลากันที่สนามบินดอนเมือง แล้วไม่ได้เจอกันอีกเลยนับยี่สิบปี


20 ปีต่อมา พระเอกกลับมากรุงเทพฯ ในยุคปัจจุบันที่หลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนไปมาก สนามบินใหม่ ตึกระฟ้าผุดขึ้นมากมาย แต่เขาไม่สามารถประสบความสำเร็จในต่างแดนดั่งใจหวัง ชีวิตครอบครัวที่ไม่สุขสม ทั้งสองได้พบกันอีกครั้ง เธอคนนั้นยังคงอยู่ที่โรงแรมโอเรียนเต็ล เก็บความรักความทรงจำไว้ในใจตราบจนสิ้นลมหายใจ

เรื่องราวของหนังยังสะท้อนภาพการแข่งขันของธุรกิจการบิน สายการบินต่างๆ ในญี่ปุ่นประสบปัญหาขาดทุน และต้องปรับตัวเข้ากับยุคใหม่ และแข่งกับประเทศเศรษฐกิจเปิดใหม่ อย่างไทย ที่ตัวนวนิยายสร้างความเชื่อมั่นว่าไทยจะต้องเป็นศูนย์กลางการบินของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้แน่นอน
















เพลงประกอบภาพยนตร์อย่าง always ของนักร้องชื่อดัง “มิกะ นาคาชิมะ” Mika Nakashima ยังสร้างความซึ้งตรึงใจให้ผู้ชมนั่งฟังจนวินาทีสุดท้ายของภาพยนตร์ พร้อมน้ำตาที่ไหลริน เป็นธรรมเนียมการฉายหนังเศร้าเคล้าน้ำตาที่ญี่ปุ่น รอบฉายที่เข้าชมในวันนั้นมีพนักงานยืนแจกกระดาษทิชชู่ที่ทางออก พร้อมพนักงานอีกคนถือถังใส่ทิชชู่ที่ใช้แล้ว 

เชื่อว่าผู้ชมคนไทยที่มีโอกาสได้ไปดูต้องรู้สึกทึ่งไปกับความคลาสสิคของสนามบินดอนเมืองที่กลายเป็นอดีต ครั้งหนึ่งเคยเป็นจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดความรักแบบไร้เยื่อใยของตัวเอกในเรื่อง


รวมทั้งฉากที่คู่หมั้นสาวมากรุงเทพฯ ความจริงได้ปรากฎว่าเธอกำลังจะแต่งงาน บทสารภาพบนเรือเมล์กลางแม่น้ำเจ้าพระยาค่อยๆล่องไปยังวัดอรุณ เพิ่มแรงบีบคั้นอารมณ์ความรู้สึกคนดูให้เห็นใจในตัวนางเอกที่หลงรักผู้ชายข้างเดียวมาโดยตลอด แต่สุดท้ายก็สูญเสียเขาไป เหลือไว้เพียงความทรงจำที่เคยรักใครสักคนสุดหัวใจเท่านั้น 

ระหว่างภาพยนตร์เรื่องนี้กำลังฉายนั้นกรุงเทพฯ เริ่มทวีความร้อนระอุด้วยปัญหาการเมืองที่ยุ่งเหยิง แต่ที่ญี่ปุ่นภาพยนตร์เรื่องนี้กลับสร้างความรู้สึกอบอุ่นใจ โหยหาอดีตของมหานครกรุงเทพฯ ได้อย่างน่าอัศจรรย์ แม้ช่วงหลังจะดูยืดยาวไปบ้างในความรู้สึก อาจเพราะด้วยตัวนวนิยายที่มีดีเทลมากมาย ผู้กำกับคงต้องการถ่ายทอดออกมาให้ครบสมบูรณ์ก็เป็นได้

หากคุณเคยรักใครสักคน แม้ไม่ได้เป็นคู่ชีวิตของเขา สักวันคงต้องจากลา แต่ความทรงจำที่มีให้กันไม่มีวันจางหาย และเก็บไว้ชั่วนิรันดร์ พร้อมสัมผัสความอบอุ่นของสยามเมืองยิ้ม อดีตที่สูญหายไปให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง Sayonara Itsuka

Text: inStyle Asia
©2024 inStyle Asia All Rights Reserved.
Designed by Creatopia Space